แผนการศึกษาแห่งชาติ เพื่อพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต เตรียมคนไทยพร้อมสู่ศตวรรษที่ ๒๑




      
แผนการศึกษาแห่งชาติ เพื่อพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต เตรียมคนไทยพร้อมสู่ศตวรรษที่ ๒๑


          สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติเพื่อพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาการศึกษาของคนในทุกช่วงอายุ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้คนไทยทุกคน ทุกช่วงอายุได้รับการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ คุณลักษณะและทักษะที่จำเป็นอย่างรอบด้านให้ทันกับโลกศตวรรษที่ ๒๑
          แผนการศึกษาแห่งชาติเพื่อพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิตครอบคลุม ๕ ช่วงอายุ ได้แก่ ๑) ช่วงแรกเกิด-ปฐมวัย (๐-๕ ปี) ๒) ช่วงวัยนักเรียน (๕-๑๔ ปี) ๓)ช่วงวัยรุ่น/นักศึกษา (๑๕-๒๑ ปี) ๔) ช่วงวัยแรงงาน (๑๕-๕๙ ปี) และ ๕)ช่วงผู้สูงวัย (๖๐ ปีขึ้นไป) ซึ่งในแต่ละช่วงอายุได้กำหนดข้อเสนอแนวทางการจัดการศึกษาและเรียนรู้ โดยแบ่งเป็น ๔ ประเด็นหลัก ซึ่งมีสาระสำคัญของแนวทางในการพัฒนาการศึกษาของคนในทุกช่วงอายุ
          ในแต่ละประเด็นหลักมีจุดเน้นสำคัญ สรุปสั้นๆ คือ
          ๑) การป้องกันปัญหาทางการศึกษา (Prevention) เน้นให้มีการกำหนดกรอบมาตรฐานการศึกษาของหลักสูตรการศึกษาทุกระดับและทุกประเภทการศึกษา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการพัฒนาคนไทยให้ได้รับการศึกษา และพัฒนาการเรียนรู้ คุณลักษณะ และทักษะที่จำเป็นอย่างรอบด้าน ทันกับการเปลี่ยนแปลงในโลกศตวรรษที่ ๒๑
          ๒) การบริการด้านการศึกษาและการเรียนรู้ (Service) เน้นส่งเสริมการขยายผลและการประยุกต์ใช้แนวทางของการศึกษาทางเลือกให้เข้าสู่ในโรงเรียนทุกระดับการศึกษา และพัฒนาระบบสะสมผลการศึกษา การประเมินเทียบระดับการศึกษา และการเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ เพื่อให้กลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางได้รับวุฒิการศึกษา และประชาชนทุกคนมีโอกาสเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต รวมทั้งการส่งเสริมกำลังแรงงานและผู้สูงวัยให้มีโอกาสศึกษาและเรียนรู้อย่างมีคุณภาพเพิ่มเติมตามความต้องการ
          ๓) การส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพทางการศึกษา (Enhancement) เน้นปรับระบบการผลิตและพัฒนาครูทุกระดับเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ และปรับปรุงกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความรู้ มีประสบการณ์ และมีความสามารถในสาขาวิชาชีพต่างๆ ที่จำเป็นและตรงตามความต้องการของประเทศเข้ามาเป็นครูได้
          ๔) การสนับสนุนเพื่อพัฒนาโอกาส คุณภาพและมาตรฐานทางการศึกษา (Support) เน้นสร้างวัฒนธรรมและสังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต สร้างโอกาสเรียนรู้ให้คนทุกกลุ่มวัยที่สอดคล้องกับการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต (Life Cycle) ควบคู่กับการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากแหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่และพัฒนา ระบบฐานข้อมูลทางการศึกษา เพื่อการจัดเก็บข้อมูลสถิติและตัวชี้วัดเป็นมาตรบานเดียวกัน และเชื่อมโยงกับระบบฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์
          สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะได้ร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติงาน ตัวชี้วัดรายปี และขั้นตอนการดำเนินงานเพื่อบรรลุความสำเร็จ (Milestone) เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

          


ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน



โพสเมื่อ : 13 ก.พ. 57   อ่าน 2030 ครั้ง      คำค้นหา :