ร.ร.เอกชนจัดบัณฑิตน้อย "บิ๊กเข้"ไม่ห้าม แต่ยอมรับว่าสิ้นเปลือง



"บิ๊กเข้"ไม่ห้าม ร.ร.เอกชนจัดบัณฑิตน้อย แต่รับสิ้นเปลือง

"บิ๊กเข้"ไม่ห้าม ร.ร.เอกชนจัดบัณฑิตน้อย แต่รับสิ้นเปลือง เป็นภาระผู้ปกครอง แจงไม่กระทบสายอาชีพ เหตุได้รับความนิยมเพราะจบแล้วมีงานทำ


กรณีมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในระดับปฐมวัย โดยเฉพาะในสถานศึกษาเอกชน ปัจจุบันพบว่าโรงเรียนอนุบาลจำนวนมากนิยมจัดกิจกรรมจบการศึกษาระดับชั้น อนุบาลให้นักเรียนแต่งกายใส่ชุดคล้ายชุดครุยรับปริญญาแล้วเรียกว่า "บัณฑิตน้อย" เป็นการสร้างค่านิยมผิดๆ ให้กับระบบการศึกษาไทย ทำให้เด็กซึมซับในเรื่องไม่ถูกต้อง ปัจจุบันได้มีการจัดกิจกรรมในลักษณะนี้ในระดับชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6 ด้วย อีกทั้งแพร่ขยายไปยังโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกรงว่าหากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ จะส่งผลให้การจัดการศึกษาของประเทศ และนโยบายที่จะเพิ่มสัดส่วนให้เรียนในระดับอาชีวศึกษาของรัฐบาลล้มเหลวนั้น

 

เมื่อวันที่ 17 เมษายน พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรมบัณฑิตน้อยของโรงเรียนอนุบาลเอกชน เป็นกิจกรรมที่ทางโรงเรียนจัดขึ้น เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กได้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน ศธ.คงไปบังคับอะไรไม่ได้ แต่ก็ต้องถือเป็นเรื่องสิ้นเปลือง ดังนั้น จึงอยากให้ดูแลไม่ให้เป็นภาระกับผู้ปกครองมากเกินไป
"กิจกรรมนี้ถ้าจะมองเป็นความน่ารักก็น่ารัก แต่ก็ถือว่าสิ้นเปลือง เท่าที่ดูจะนิยมจัดในโรงเรียนเอกชน ส่วนโรงเรียนรัฐบาลก็อาจจะมีบ้าง แต่เป็นส่วนน้อย ศธ.คงไม่สามารถไปบังคับให้ยกเลิกได้ ที่ทำได้คือขอความร่วมมือโรงเรียนไม่ให้จัดกิจกรรมอะไรที่เป็นภาระกับผู้ ปกครองมากเกินไป ส่วนโรงเรียนของรัฐ ก็ขอให้ดูตามความเหมาะสม" พล.ร.อ.ณรงค์กล่าว

พล.ร.อ.ณรงค์กล่าวอีกว่า ส่วนที่มองว่าการใส่ชุดคล้ายชุดครุยในการจบชั้นอนุบาล จะเป็นการปลูกฝังให้เด็กคิดว่าต้องเรียนจบปริญญาตรีเท่านั้น คิดว่าปัจจุบันคงไม่ใช่ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่จัดทำให้เด็กแค่ช่วงหนึ่ง ส่วนเมื่อเด็กโตขึ้นจะเรียนในสายสามัญ หรือสายอาชีพนั้น คงต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเด็กเอง เพราะปัจจุบันการเรียนในสายอาชีพก็ได้รับความนิยม เพราะเมื่อเรียนจบแล้วจะมีงานรองรับ


นายพีระพงษ์ พันธุ์พินิจ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลทศพร และคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานการศึกษาเอกชน จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่า ศธ.ไม่ควรห้าม หรือให้โรงเรียนยกเลิกการจัดกิจกรรมนี้ เพราะเป็นกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว กระตุ้นให้เด็กมีความคิดที่จะศึกษาเพิ่มเติมขึ้นไปในระดับที่สูงขึ้นในอนาคต


ผู้ปกครองเองก็มีความภูมิใจที่ได้เห็นความสำเร็จก้าวแรกของชีวิต ไม่ได้เป็นเรื่องที่มีความเสียหาย ยกเว้นว่าโรงเรียนใดที่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายมากเกินไปก็ควรจะปราม และขอความร่วมมือให้เก็บค่าใช้จ่ายในระดับที่เหมาะสม เท่าที่ดูค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมนี้ไม่ได้มากอย่างที่คิด ค่าเช่าชุดรวมค่าดอกไม้ที่ให้กับเด็กๆ เพียง 300-400 บาท เพราะไม่ได้เป็นกิจกรรมที่หวังผลกำไร แต่จัดขึ้นเพื่อให้

 

ผู้ปกครองและเด็กเกิดความภาคภูมิใจ ส่วนที่กังวลว่าจะเป็นการส่งเสริมให้เด็กเห็นความสำคัญของใบปริญญามากเกินไป นั้น ส่วนตัวคิดว่าไม่จริง เพราะปัจจุบันการศึกษาไม่ได้มีเฉพาะสายสามัญเท่านั้นที่จบปริญญาตรีได้ แต่คนที่เรียนในสายอาชีพก็เรียนจนจบปริญญาในสาขาที่เรียนได้เช่นกัน

 

นางสุธิดา ไพเราะ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาล ไพเราะวิทยา จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า กิจกรรมนี้เกิดจากความต้องการของผู้ปกครอง เห็นได้จากเดิมมีจัดกิจกรรมเฉพาะโรงเรียนเอกชนเท่านั้น แต่ปัจจุบันโรงเรียนรัฐหลายแห่งก็จัด ขยายไปถึงโรงเรียนสังกัดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่นิยมจัดกันจำนวนมาก กลายเป็นค่านิยมที่ผู้ปกครองได้เห็น และภาคภูมิใจในตัวลูก ส่วนค่าใช้จ่ายก็ถือว่าไม่มาก อย่างโรงเรียนอนุบาลไพเราะวิทยามีค่าใช้จ่ายกว่า 400 บาท และก่อนจัดงานทุกครั้งจะสอบถามความสมัครใจของผู้ปกครองว่ายินดีจะให้ โรงเรียนจัดหรือไม่ ซึ่งทุกครั้งผู้ปกครองทั้งหมดก็ยินดี แต่ก็ยอมรับว่าบางแห่งเก็บค่าใช้จ่ายมากเกินไป ซึ่งก็คงต้องขอความร่วมมือ แต่เชื่อว่าหากเก็บค่าใช้จ่ายมากเกินจนผู้ปกครองไม่สามารถแบกรับได้ ก็คงไม่มีใครยอมรับ


นายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ เลขาธิการสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรมบัณฑิตน้อยเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเด็กนักเรียน ครอบครัวและโรงเรียน ไม่ได้กระทบกับคุณภาพด้านการศึกษา เป็นการทำกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างกำลังใจให้เด็กในระดับปฐมวัย ที่ผ่านมาท้องถิ่นมีโรงเรียนในสังกัดจัดกิจกรรมหลายระดับชั้นเรียน ยังไม่มีการร้องเรียนเรื่องดังกล่าว พบว่าเป็นความพึงพอใจของผู้ปกครองที่พร้อมจะนำเด็กเข้าร่วมกิจกรรมโดยสมัคร ใจ แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ทำให้คนในครอบครัวได้ร่วมแสดงความยินดีกับเด็กนักเรียนที่จบการศึกษา แม้ว่าบางครอบครัวพ่อแม่หย่าร้าง เมื่อถึงวาระสำคัญของบุตรหลานก็ยังเดินทางมาให้กำลังใจ

 

แหล่งข่าวจากข้าราชการตำรวจในฐานะผู้ปกครองรายหนึ่งที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระบุว่า ได้นำบุตรสาวร่วมโครงการบัณฑิตน้อยกับโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการจัดกิจกรรม เพราะมีหลายส่วนเข้ามามีผลประโยชน์ทางธุรกิจ และผู้ปกครองบางรายไม่มีความพร้อมด้านค่าใช้จ่าย มองว่าเป็นค่านิยมที่สิ้นเปลืองจากค่าเช่าชุดครุย ค่าแต่งหน้า ค่าดอกไม้ ค่าถ่ายรูปและช่อดอกไม้ ซึ่งเริ่มต้นมาจากแนวคิดการหารายได้เสริมของโรงเรียนเอกชน ลุกลามมาถึงโรงเรียนของหน่วยงานรัฐ แต่ผู้เกี่ยวข้องยืนยันว่ารายได้ทั้งหมดจะมอบให้โรงเรียน ที่สำคัญห่วงบุตรสาวจะต้องเรียนต่อในชั้น ป.1 โรงเรียนเดิมจะมีปัญหาหลายด้าน หากไม่ร่วมกิจกรรมของส่วนรวม และไม่มีผู้ปกครองออกมาให้ความเห็นหรือร้องเรียน เพราะเกรงจะกระทบบุตรหลานที่จะศึกษาต่อในโรงเรียนนั้นๆ


นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า กิจกรรมนี้ส่วนมากจะจัดในโรงเรียนเอกชน ส่วนหนึ่งเพื่อประชาสัมพันธ์โรงเรียน กระทั่งขยายมาในโรงเรียนสังกัด อปท.ส่วนโรงเรียน สพฐ.มีบ้างแต่ยังไม่มาก อย่างไรก็ตาม ในระดับนโยบายคงไม่สามารถไปสั่งห้ามได้ เพราะโรงเรียน สพฐ.ยังมีส่วนน้อย และยังไม่รุนแรง แต่ก็ไม่สนับสนุนให้โรงเรียนจัดกิจกรรมในลักษณะนี้ เพราะเป็นการสร้างค่านิยมให้เด็กมุ่งแต่ปริญญา ซึ่งก็ไม่ใช่ค่านิยมที่ผิด แต่ไม่จำเป็นต้องปลูกฝังตั้งแต่อนุบาล ขณะเดียวกันยังทำให้เกิดความสิ้นเปลือง เป็นประโยชน์กับบริษัทเอกชนมากกว่าที่จะเกิดประโยชน์กับผู้เรียน ขณะเดียวกันใน สปช.เองยังไม่ได้พูดคุยหรือหารือถึงเรื่องในลักษณะนี้ เพราะเป็นเรื่องรายละเอียดมากเกินไป


นายกมลกล่าวต่อว่า ส่วนที่มีอดีตศิษย์เก่าโรงเรียนแห่งหนึ่งเผยแพร่ภาพเสื้อนักเรียนของ โรงเรียนนาเยียศึกษา รัชมังคลาภิเษก จ.อุบลราชธานี ที่มีการปักตัวเลขเกรดเฉลี่ยของนักเรียนคนนั้นๆ อยู่บนหน้าอกเสื้อ ผ่านโซเชียลมีเดีย โดยวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เหมาะสม ว่า ทราบข้อมูลดังกล่าวแล้ว และได้ขอให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 29 อุบลราชธานี-อำนาจเจริญ พูดคุยถามถึงเหตุผลกับทางโรงเรียน ทราบว่าโรงเรียนทำไปเพราะต้องการกระตุ้นให้เด็กตั้งใจเรียน และยกย่องเด็กที่เรียนดี ในมุมมองเห็นว่าไม่ควรดำเนินการในลักษณะนี้ ขอให้ทางโรงเรียนยุติเรื่องนี้ เพราะไม่เห็นประโยชน์ในเชิงบวกของการดำเนินการเรื่องดังกล่าว หากโรงเรียนต้องการเพิ่มคะแนนของนักเรียนก็ควรเน้นปรับปรุงการเรียนการสอน เน้นเนื้อหาเชิงวิชาการให้มากขึ้น


ที่มา มติชนออนไลน์ วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2558


โพสเมื่อ : 19 เม.ย. 58   อ่าน 1745 ครั้ง      คำค้นหา :