’หุ่นยนต์เศษเหล็ก’ ลดโลกร้อน ผลิตภัณฑ๋รีไซเคิลสูตลาดโลก




      

'หุ่นยนต์เศษเหล็ก' ลดโลกร้อน ผลิตภัณฑ๋รีไซเคิลสูตลาดโลก

          ในปัจจุบันดูเหมือนว่าคนเราหันมาใส่ใจสภาวะโลกร้อนมากขึ้น การนำขยะรีไซเคิลมาผลิตสินค้า เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดมลพิษอีกทั้งยังช่วยเพิ่มมูลค่าของสินค้าได้อีกด้วย อย่างธุรกิจครอบครัวของอรทัย จัพ และอีริก จัพ ที่หมู่บ้านถวาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ มีการนำขยะรีไซเคิลประเภทโลหะเหล็กมาผลิตเป็นหุ่นยนต์เรียกว่า หุ่นยนต์เศษเหล็ก สร้างความสนใจจากลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ
          อรทัย จัพ ผู้จัดการโวยาจ เมทัล อาร์ท ผู้ผลิตสินค้ารีไซเคิลหุ่นยนต์เศษเหล็ก ย้อนที่มาของผลงานชิ้นนี้ว่า อีริก สามีชาวอังกฤษเข้ามาปักหลักใน จ.เชียงใหม่ และได้แนวคิดมาจากร้านซ่อมจักรยานแห่งหนึ่ง ซึ่งนำอะไหล่ของจักรยานมาเชื่อมต่อกันเป็นหุ่นยนต์โชว์ในร้าน จึงเกิดความสนใจและคิดจะทำขายเป็นกิจการของตนเอง หลังจากนั้นไม่นานจึงได้ลงทุนสร้างกิจการของครอบครัว โดยไปเช่าร้านอยู่ที่ย่านไนท์บาซาร์ จ.เชียงใหม่ ใช้ทุนเริ่มกิจการจำนวน 1 แสนบาท
          จากนั้นปรากฏว่าได้รับความสนใจมากโดยเฉพาะนักธุรกิจชาวต่างชาติที่ต้องการนำหุ่นยนต์ของเราไปขาย จึงเริ่มสั่งสินค้าจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้กิจการเริ่มเติบโต แต่การผลิตนั้นล่าช้า ไม่สามารถผลิตได้ทันตามที่ลูกค้าต้องการ เนื่องจากหุ่นยนต์เศษเหล็กเป็นงานศิลปะมีความประณีต จึงต้องใช้เวลาในการผลิต เพื่อให้งานทุกชิ้นมีคุณภาพ
          กิจการของเราเติบโตมาได้จากการสนับสนุนของลูกค้าชาวต่างชาติชอบงานพวกนี้ เพราะเป็นงานที่ช่วยลดโลกภาวะร้อน ช่วยสังคม อรทัยกล่าวและว่าเมื่ออยู่ในย่านไนท์บาซาร์ได้ 4 ปี จึงได้ย้ายไปซื้อที่ดินเป็นของตนเองที่หมู่บ้านถวาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ เปิดร้านชื่อว่า โวยาจ เมทัล อาร์ท (Voyage Metal Art) เป็นระยะเวลา 9 ปีจนถึงปัจจุบันสามารถผลิต หุ่นยนต์เศษเหล็ก ขนาดใหญ่ 2 เมตรได้ 1 ตัวต่อสัปดาห์ และขนาดเล็ก 20 เซนติเมตรจะได้ 4-5 ตัวต่อสัปดาห์ มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อเดือน
          ส่วนแนวคิดในการออกแบบหุ่นยนต์เศษเหล็ก อรทัยเล่าว่าสามีเป็นคนออกแบบหุ่นยนต์ทั้งหมด เพราะสำเร็จการศึกษาคณะวิศวกรรมเครื่องกลจากประเทศอังกฤษ แต่มีความชอบเรื่องศิลปะมากและเป็นคนที่มีไอเดียอยู่ตลอดเวลา สินค้าทุกอย่างที่ออกแบบมามักเกิดจากประสบการณ์การท่องเที่ยวต่างประเทศ
          สำหรับผลิตภัณฑ์ของโวยาจ เมทัล อาร์ท มีทั้งหุ่นยนต์ที่ใช้ตั้งโชว์ตกแต่งบ้าน เช่น เอเลี่ยน พรีเดเตอร์ ช้าง ม้า และหุ่นยนต์ที่ใช้งานได้จริง เช่น  โต๊ะ เก้าอี้ โคมไฟ ซึ่งทุกอย่างทำมาจากเศษเหล็ก
          จุดเด่นของสินค้าทั้งหมด คือ การนำเสนอสิ่งใหม่ให้ลูกค้าเสมอ ผลิตภัณฑ์จะไม่ซ้ำจากเดิม หุ่นยนต์ที่เราผลิตแต่ละตัวจะไม่เหมือนกัน มีการพัฒนาสินค้าตลอดเวลา เช่นการลงสีไปบนบางส่วนของหุ่นยนต์ให้สีตัดกันกับสีของเหล็ก เพื่อเพิ่มความน่าสนใจและยังเป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้าด้วย
          อรทัยเผยอีกว่า ส่วนวิธีการผลิตหุ่นยนต์เศษเหล็กเริ่มจากการรับซื้อของเก่าจากร้าน หรือชาวบ้านที่นำมาขายให้ และคัดเลือกเหล็กที่สามารถใช้ได้ จากนั้นช่างก็จะขึ้นโครงให้เหมือนตามแบบต้องการ และค่อยๆ เชื่อมเหล็กเติมส่วนประกอบตามจินตนาการ ซึ่งต้องอาศัยการลองผิดลองถูกของช่าง เป็นการใช้ความคิดเชิงอิสระและสร้างสรรค์ เมื่อเสร็จแล้วจึงนำไปขัดด้วยเครื่องขัดเหล็ก สุดท้ายจึงนำไปลงแลคเกอร์ หรือลงสี
          สำหรับหุ่นยนต์เศษเหล็กนั้น มีขนาดตั้งแต่ 10 เซนติเมตร จนถึงขนาด 6 เมตร น้ำหนักมากสุดที่ 2-3 ตัน ราคาตั้งแต่หลักสิบ จนถึงหลักแสน มีบริการขนส่งให้ทั่วโลก โดยเฉพาะโซนยุโรป ส่วนอเมริกานั้นเพิ่งได้รับการสั่งเข้ามาปีนี้ อรทัยกล่าวทิ้งท้าย
          หุ่นยนต์เศษเหล็ก ถือเป็นแนวคิดที่ดีที่สามารถนำขยะรีไซเคิลประเภทโลหะเหล็กมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าได้ หากใครสนใจสามารถนำแนวคิดนี้ไปเป็นแนวทางในการสร้างอาชีพใหม่ สร้างรายได้เป็นอย่างดี เพราะนอกจากโลหะเหล็กแล้วยังมีขยะรีไซเคิลประเภทอื่นๆ อาทิ พลาสติก กระดาษ แก้ว และอะลูมิเนียม เป็นต้น

     

 

          ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก



โพสเมื่อ : 28 ม.ค. 57   อ่าน 4902 ครั้ง      คำค้นหา :