![]() |
เนื่องในโอกาสวันผู้สูงอายุแห่งชาติวันที่ 13 เมษายน ถือโอกาสเยี่ยมชม "กรมป้ายแดง" เปิดทำการได้เดือนกว่าๆ "กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.)" ภายใต้สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2558
บ้านหลังใหญ่หลังใหม่นี้ภายในเป็นอย่างไร มีผู้พาเข้าเยี่ยมชมทุกซอกทุกมุม นางสุนทรี พัวเวส รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน และรักษาราชการแทนรองอธิบดีกรม ผส. กล่าวถึงที่มา
สุนทรี พัวเวส "กรมนี้เป็นที่รอคอยและมุ่งหวังของผู้สูงอายุ ที่จะให้เกิดองค์กรภาครัฐที่เป็นเจ้าภาพ ในการขับเคลื่อนประเด็นและทำให้เกิดการดูแลผู้สูงอายุให้ทั่วถึงและเป็นธรรม ฉะนั้นต่อไปมีประเด็นอะไรที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุให้มุ่งตรงมาที่เราได้เลย เราก็จะเชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนภารกิจที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับผู้สูงอายุที่มีประสิทธิภาพได้ต่อไป"
ขับเคลื่อนงานโดยใช้ชุมชนเป็นตัวตั้ง นางสุนทรีชื่นชมรัฐบาลปัจจุบันว่าให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมสังคมผู้ สูงอายุอย่างเร็วๆนี้ที่นายยงยุทธยุทธวงศ์รองนายกรัฐมนตรี มีโครงการ "รัฐ-ราษฎร์ ร่วมใจห่วงใยดูแลผู้สูงอายุ" ที่นำ 6 กระทรวงมาขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุที่ใช้พื้นที่ชุมชนเป็นตัวตั้ง ภายใต้การส่งเสริมให้เกิดศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ เพื่อเน้นสร้างระบบการดูแลระยะยาว อย่างศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ เป็นนโยบายของ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. โดยเริ่มในปี 2557-2558 ที่กระทรวง พม.ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และชมรมผู้สูงอายุ จัดตั้งศูนย์ 878 แห่งในระดับอำเภอ ขณะที่อนาคตมีแผนจะขยายศูนย์แห่งนี้ให้ครอบคลุมระดับตำบล หรืออีก 7,000 กว่าแห่ง ซึ่งศูนย์เหล่านี้จะเป็นการมารวมตัวของผู้สูงอายุ ตั้งแต่การมาพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยน ออกกำลังกาย คิดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม รวมถึงการฝึกอาชีพให้ผู้สูงอายุ เพื่อคลายเหงา และมีรายได้เสริม "รัฐบาลและคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติให้ความสำคัญเรื่องเศรษฐกิจของ ผู้สูงอายุมากมองว่าทำอย่างไรที่จะให้ผู้สูงอายุอยู่ในภาวะดูแลตัวเองได้ยาว นานที่สุดอย่างการสร้างหลักประกันด้วยการออมหรือการทำงานในผู้สูงวัยตรงนี้ จะเป็นงานอดิเรกเพื่อรับรายได้เสริม เป็นงานรับไปทำที่บ้านหรือรวมกลุ่มทำที่ศูนย์ ส่วนทางศูนย์ก็มีภารกิจในการฝึกอบรมอาชีพ ส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มประกอบอาชีพ อย่างบางที่ที่ประสบความสำเร็จ ทาง อปท.ก็จะประสานหาช่องทางตลาดให้"
"บางคนบอกว่าทำไมเราไม่ทำอย่างญี่ปุ่นตรงนี้ต้องดูตั้งแต่ต้นน้ำว่าเขาทำ งานได้เงินมากก็ต้องเสียภาษีมากถึง20-30เปอร์เซ็นต์เพื่อรอได้สวัสดิการใน วัยสูงอายุ รัฐสวัสดิการเขาไม่ได้ให้เปล่า เขาได้เงินภาษีจากการทำงานของประชาชน จนถึงเวลาที่ทำงานไม่ได้แล้วหรือสูงอายุเขาก็จะได้รับเงินสวัสดิการนั้นกลับ คืนมา ขณะที่เรายังไม่ได้เก็บภาษีที่สูงเพื่อนำมาจ่ายสวัสดิการอย่างนั้น แต่หากถามว่าจะมีการขึ้นเงินเบี้ยผู้สูงอายุในเร็วๆ นี้หรือไม่ ตอนนี้ยังไม่มีการพูดคุยกัน เพราะปัจจุบันก็จ่ายให้ผู้สูงอายุ 7-8 ล้านคน ใช้งบประมาณมหาศาลอยู่"
เป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพได้อย่างไร นางสุนทรีกล่าวว่ามีปัจจัย4หลักคือ1.ด้านเศรษฐกิจ ต้องทำให้มีการออมตั้งแต่วัยเด็ก ด้วยการปลูกฝังวินัยการออมการเก็บออมวัยแรงงาน มีที่อยู่อาศัยมั่นคง 2.สุขภาพ ต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็กเรื่องการดูแลสุขภาพ พอมาวัยแรงงานก็ไม่ใช้ชีวิตให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคภัยที่เกิดจาก พฤติกรรมทั้งหลาย เพราะหากเป็นผู้สูงอายุที่สุขภาพอ่อนแอ เงินที่เก็บมาทั้งชีวิตก็ไม่พอใช้ ต้องมาจ่ายเพื่อการรักษาสุขภาพ 3.สังคม ต้องเข้าสังคมบ้าง และ 4.สภาพแวดล้อมทั้งในบ้านและชุมชน ต้องมีบ้านที่ปลอดภัย สภาพแวดล้อมรองรับเป็นบ้านที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกวัยสูงอายุ เช่น พื้นไม่ลื่น มีราวจับในห้องน้ำ แสงสว่างเพียงพอ รวมถึงสภาพแวดล้อมในชุมชนก็สำคัญ แต่ให้เป็นหน้าที่ของท้องถิ่นที่ต้องสร้างระบบสาธารณูปโภคให้รองรับ
ที่มา มติชนออนไลน์ วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2558
สรุป "กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.)" สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2558 ยกระดับมาจาก "สำนักส่งเสริมและพิทักษ์ผู้สูงอายุ"
|
โพสเมื่อ : 17 เม.ย. 58 อ่าน 1493 ครั้ง คำค้นหา : |