18 มหาวิทยาลัยร่วมใช้โปรแกรม อักขราวิสุทธิ์



จุฬาฯเปิดให้สถาบันอุดมศึกษาใช้โปรแกรมอัขราวิสุทธิ์ฟรี หวังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศขยายฐานข้อมูลป้องกันการลอกเลียนผลงาน

วันนี้ (2ก.ย.) ที่อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ”การตรวจสอบการลอกเลียนงานวรรณกรรม ด้วยโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์” ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ สถาบันอุดมศึกษา 18แห่ง โดย ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดี จุฬาฯกล่าวว่า การลอกเลียนวรรณกรรมสามารถทำได้ในพริบตา โดยเฉพาะการลอกเลียนวิทยานิพนธ์ที่นิสิต นักศึกษาไม่ได้ลงมือทำด้วยตนเอง จึงถือเป็นความเสียหายต่อวงการศึกษาไทย และเมื่อถูกจับได้ก็จะเป็นตราบาปตลอดชีวิตแก่ตัวนักศึกษา ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยก็จะขาดความน่าเชื่อถือไปด้วย ดังนั้นจุฬาฯ จำเป็นต้องพัฒนาโปรแกรมการตรวจสอบ เพื่อให้ปัญหาการลอกเลียนวิทยานิพนธ์หมดไป และเพื่อป้องกันการลอกเลียนในวงกว้างจุฬาฯจึงมีนโยบายอนุญาตให้มหาวิทยาลัย ต่างๆใช้โปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น

“ ในปีการศึกษา 2557 นี้ วิทยานิพนธ์ และสารนิพนธ์ ทุกฉบับของนิสิตจุฬาฯ จะต้องผ่านการตรวจจับการลอกเลียนวรรณกรรม ทั้งจากโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ และโปรแกรมเทรินอิทอิน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผลงานทุกชิ้นของนิสิตจุฬาฯไม่ได้ลอกเลียนของใครมา ” ศ.นพ.ภิรมย์ กล่าว

ด้าน รศ.ดร.อมร เพชรสม คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยจุฬาฯ กล่าวว่า ปัญหาการลอกเลียนวรรณกรรมก่อให้เกิดผลเสียด้านการศึกษาของประเทศและจริยธรรม ของประชาชนอันเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และความไร้จิตสำนึกของนิสิต นักศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกสถาบันอุดมศึกษา ดังนั้นทุกสถาบันจึงจำเป็นต้องหาทางป้องกันการลอกเลียนวรรณกรรม โดยเข้าร่วมใช้โปรแกรมการตรวจสอบของจุฬาฯ และหวังว่าในอนาคตสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศจะเข้าร่วมใช้โปรแกรมการตรวจสอบ หรือ มีโปรแกรมตรวจสอบเป็นของตนเอง และสามารถเชื่อมโยงฐานข้อมูลร่วมกันได้ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยป้องกันการลอกเลียนผลงาน และทำให้ปัญหาที่หลายสถาบันกังวลหมดไปได้

" จุฬาฯ มีประสบการณ์ที่ขมขื่นกับปัญหาการลอกเลียนวรรณกรรมจนเป็นคดีความไม่จบง่ายๆ หลายคดียังคาราคาซังมาถึงวันนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีการลอกเลียนวิทยานิพนธ์ ดังนั้น จุฬาฯจึงต้องพัฒนาโปรแกรมสำหรับใช้ตรวจสอบให้ดีที่สุด และจะพัฒนาต่อไปอีกหลายๆเวอร์ชั่น เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นให้ได้ " รศ.ดร.อมร กล่าว.

ทั้งนี้ 18 สถาบันที่ร่วมใช้โปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ ได้แก่ มหา วิทยาลัยแม่โจ้, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, มหาวิทยาลัยการจัดการและเทคโนโลยีอีสเทิร์น,มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์, มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ, มหาวิทยาลัยธนบุรี, วิทยาลัยเซนต์หลุยส์, มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา,มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช, มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต, มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี, มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม, มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์.

 

 

ที่มา เดลินิวส์ วันอังคาร 2 กันยายน 2557


โพสเมื่อ : 03 ก.ย. 57   อ่าน 1430 ครั้ง      คำค้นหา :