เลาะเลียบคลองผดุงฯ
ตุลย์ ณ ราชดำเนิน [email protected]
ทั้งๆ ที่น่าจะเป็นข่าวดี เมื่อสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
ออกมาระบุถึงโครงสร้างแรงงานไทยปัจจุบัน มีอัตราการว่างงานค่อนข้างต่ำ
แต่ข่าวที่หักมุมกลับ
คือภาคเศรษฐกิจของไทยกลับใช้แรงงานเกินกว่าขีดความสามารถ
ชนิดต่อเนื่องกันมากว่า 2 ทศวรรษ
ดัชนีชี้วัดที่สำคัญดูได้จากจำนวนการจ้างงานที่สูงอย่างต่อเนื่อง
จนอัตราการว่างงานของไทยถึงกับผันผวนเป็นรายไตรมาส
และมีอัตราค่อนข้างต่ำอยู่ในช่วง 0.5-2.0%
ของกำลังแรงงานของภาพรวมทั้งประเทศ
ในปี 2557 กรมการจัดหางานคาดการณ์ผู้ที่จบการศึกษา
และจำนวนที่เข้าสู่ตลาดแรงงานระดับล่างจะมีสัดส่วนที่น้อยมาก เพราะพบว่า
มีผู้จบมัธยมต้นสูงถึง 741,931 คน และหากไม่เรียนต่อ ต้องใช้เวลาอีก 4-5 ปี
จึงจะเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ ยิ่งระดับมัธยมปลายสายสามัญแล้ว
ก็ยิ่งจะออกสู่ตลาดแรงงานน้อยลงไปอีก
ส่วนผู้ที่เรียนระดับปวช. ซึ่งมีจำนวนผู้จบการศึกษาน้อยกว่าผู้เรียนมัธยมปลายมากอยู่แล้ว และมีผู้ที่จะออกมาทำงานเพียงแค่ร้อยละ 8.9
ผลการศึกษาของ TDRI พบว่าผู้ที่จบปวช. เรียนต่อปวส.มากกว่าร้อยละ 70
และจำนวนผู้จบปวส.เองก็ยังเข้าสู่ตลาดแรงงานเพียงร้อยละ 13.6 เท่านั้น
รวมผู้จบสายอาชีพทั้ง 2 ระดับเข้าด้วยกันก็ยังมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 17.8
ของผู้ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานทั้งหมด
TDRI ถึงกับหลุดปากว่า การที่ประเทศไทยจะหนีจากกับดักนี้ได้ คงไม่มีทางเลือกมากนัก
สอดคล้องกับผลการศึกษาของสภาการศึกษา พบเช่นกันว่า
ในช่วงเวลาที่ผ่านมาผู้ประกอบการมีความต้องการที่จะจ้างผู้ที่จบสายอาชีพ
เฉพาะระดับปวช. แต่ผู้ปกครองกลับให้บุตรหลานเรียนสายสามัญมากกว่าสายอาชีพ
จึงทำให้สัดส่วนของผู้เรียนสายสามัญต่อสายอาชีพเท่ากับ 66:34
อยู่ในระดับนี้มานาน
สัดส่วนนี้ไม่ดีขึ้น เห็นได้จากในปีการศึกษา 2557 ต่อ 2558 นี้
มีสัดส่วนลงอย่างต่อเนื่อง ถ้ายังปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมแบบนี้
ปัญหาการขาดแคลนแรงงานผู้จบสายอาชีพ ในระดับอาชีวศึกษาก็จะถึงขั้นวิกฤต
ดังนั้น การคิดเพิ่มสัดส่วนของผู้เรียนจบจากม.3 ต่อสายอาชีพให้เป็น
45:55 ในอีก 5 ปีข้างหน้า คงต้องยกเป็นวาระแห่งชาติ มิใช่
ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของอาชีวะฝ่ายเดียว
โดยเฉพาะหาวิธีการคัดกรองนักเรียนม.3 จะสมควรเรียนต่อสายไหน
ไม่เป็นดังที่ผ่านมา
ที่มา ข่าวสดออนไลน์ วันที่ 04 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557