โ ม ฆ คุ รุ !
(ยาวสักหน่อย : แต่ฉันมิอยากจะเชื่อว่าครูและผู้บริหารการศึกษาซึ่งจบปริญญาตรี โท เอก ในประเทศของฉันจะมีสติปัญญาเพียงแค่นี้!)
***********
ฉันอยู่ในสังคมแห่ง “โมฆชน” และหมู่ชนผู้โมฆะ
พวกเขาเหล่านั้นมาจากไหนกันละหรือ
แต่เดิมฉันมีความเชื่อเพียงว่าโมฆบุตรย่อมมีที่มาจากครอบครัวอันเป็นโมฆะ
อันกอปรด้วยโมฆบิดาและโมฆมารดาเป็นสาเหตุสำคัญ แต่ทว่าวันนี้
ฉันกลับพบสาเหตุสำคัญยิ่งกว่าเดิมอีกว่าพวกเขาต่างล้วนมีที่มาจากสถานศึกษา
และระบบการการจัดการศึกษาอันเป็นโมฆะในประเทศของฉันด้วย
๑.น่าเศร้านักที่ครูและผู้บริหารการศึกษาซึ่งจบปริญญาตรี โท เอก ในประเทศของฉันสอนเด็กให้อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้
และแก้ปัญหานี้มานับสิบๆ ปีไม่สำเร็จ
แม้ว่าจะมีแนวทางที่มีผู้รู้ผู้สามารถแก้ปัญหาได้มาชี้แนะและพิสูจน์ด้วยการ
ทำให้ดูอย่างประจักษ์แจ้งเพียงใดแล้วก็ตาม
ครูและผู้บริหารการศึกษาส่วนใหญ่ก็ยังไม่นำพาจริงจัง
ต่างยังคงมีข้ออ้างและข้อแก้ต่างของอุปสรรคมากมาย
แท้จริงแล้วก็คือไม่ได้ใส่ใจที่จะกระทำอย่างจริงจัง
ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรียนรู้ปัญหาที่จริงแท้
มิหนำซ้ำยังมัวแต่หมกซ่อนปัญหากันไว้เป็นดินพอกหางหมู
ปั้นแต่งแต่รายงานเอกสารข้อมูลให้ดูดี เอาตัวรอดกันไปวันๆ
ปล่อยปละละเลยให้เด็กจำนวนไม่น้อยนั่งจมอยู่กับความมืดตั้งแต่ ป.๑ ถึง ม.๓
และแม้กระทั่ง ม.๖ ก็มากมี
๒.น่าเศร้านักที่ครูและผู้บริหารการศึกษาซึ่งจบปริญญาตรี โท เอก ยังทำแผนการสอนเพียงเพื่อให้ผู้มีอำนาจตรวจ
แต่มิได้ใช้แผนนั้นเพื่อการสอนจริง
และแม้กระทั่งอาจารย์ระดับมหาวิทยาลัยซึ่งจบปริญญาโท เอก นั้นด้วยเล่า
ส่วนใหญ่ก็ยังสอนให้ทำแผนการสอนที่นักศึกษามิได้นำไปใช้จริง
รวมทั้งอาจารย์ผู้สอนในมหาวิทยาลัยเองก็ไม่ได้เขียนแผนการสอนเช่นที่สอนนัก
ศึกษา ต่างรู้ทั้งรู้ว่ากำลังทำในสิ่งที่เป็นมายาภาพ
เลวร้ายไปกว่านั้นก็คือ ครูส่วนใหญ่ในประเทศของฉันนี้
ก็ยังไม่สามารถออกแบบการสอนที่จะสามารถนำพาผู้เรียนไปสู่สัมฤทธิผลแท้จริง
ของมาตรฐานหลักสูตรและ “ตัวชี้วัด” ได้
๓.น่าเศร้านักที่ครูและผู้บริหารการศึกษาซึ่งจบปริญญาตรี โท เอก
ในประเทศของฉันล้วนตั้งหน้าตั้งตาพัฒนาผู้เรียนเพื่อให้ได้ผลคะแนนจากการ
ประเมินผลและทดสอบที่ดีขึ้น ด้วยวิธีการ “ติวข้อสอบ” กัน
อย่างเอาจริงเอาจัง ซึ่งไม่ต่างกับการตำข้าสารกรอกหม้อไปวันๆ
ไม่น่าเชื่อว่าครูและผู้บริหารการศึกษาซึ่งจบปริญญาตรี โท เอก
จะมีสติปัญญาคิดกันได้เพียงแค่นี้ และกระทำเหมือนๆ กันทั้งประเทศ
ถึงกับยอมเสียเวลาแห่งภารกิจที่จะกระทำให้เกิดผลที่ยั่งยืนกว่า
ไปเพื่อกิจกรรมอันอับจนปัญญานี้กันทั้งแผ่นดิน
จนพากันลืมไปเสียสิ้นว่าเป้าหมายของการศึกษาศึกษาที่จริงคือ “ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์”
ต่างหาก การทดสอบทางวิชาการเป็นเพียงความรู้และความคิด
ที่เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้เท่านั้น
เมื่อกระแสหลักของการจัดการศึกษามองข้ามหรือละเลยคุณภาพเชิง “จริยปัญญา” และทักษะชีวิตของผู้เรียนเสียแล้ว การศึกษาก็หาเป็นประโยชน์แท้จริงไม่
๔.น่าเศร้านักที่ครูและผู้บริหารการศึกษาซึ่งจบปริญญาตรี โท เอก
ในประเทศของฉันยังทำเอกสารข้อมูลประกันคุณภาพการศึกษาเพียงแค่ให้
สมศ.ตรวจประเมิน และไม่น่าเชื่อว่าบรรดา สมศ. จำนวนไม่น้อยซึ่งจบปริญญาตรี
โท เอก ก็ยังคงก้มหน้าก้มตาตรวจประเมินแค่เอกสารข้อมูล วัตถุพยาน
และร่องรอยของการ “ได้ทำ” หรือ “ได้สอน” แล้วปล่อยให้โรงเรียน “ผ่าน” การประเมิน ทั้งที่คุณภาพเชิงสัมฤทธิผลตามมาตรฐานหลักสูตรของผู้เรียนยังฟ้องอยู่ทนโท่ในทางตรงกันข้าม
๕.น่าเศร้านักที่ผู้บริหารการศึกษา ศน.
และบุคลากรทางการศึกษาในระดับเขตพื้นที่ และสำนักการศึกษา ซึ่งจบปริญญาตรี
โท เอก ซึ่งมีตำแหน่งรับผิดชอบบริหาร กำกับดูแล และพัฒนาคุณภาพการศึกษา
ยังมัวแต่สร้างโครงการ กิจกรรม
และงานยิบย่อยที่ไม่เกิดประโยชน์ผลจริงแท้ลงไปให้โรงเรียนต้องเสียเวลาทำงาน
ทั้งงานข้อมูล รายงาน และการดำเนินงานเพียงแค่ให้ “ได้ทำ”
อาทิ โครงการโรงเรียนวิถีพุทธ โครงการสหกรณ์โรงเรียน
โครงการเศรษฐกิจพอเพียง โครงการสมาร์ตสคูล โครงการโรงเรียนรักการอ่าน
โครงการโตไปไม่โกง และโครงการอื่นๆ อีกมาก
ทั้งที่เนื้อหาของทุกโครงการเหล่านั้น ล้วนมีอยู่ในมาตรฐานหลักสูตรและ “ตัวชี้วัด” อย่างครบถ้วนแล้ว เพียงแต่ให้จัดการเรียนการสอนตามมาตรฐานหลักสูตรและ “ตัวชี้วัด”
ให้สัมฤทธิผลแค่นั้นเอง ผู้เรียนก็จะผ่านการเรียนรู้ มีประสบการณ์
และมีทักษะชีวิตด้านต่างๆ ตามที่พึงประสงค์ของทุกโครงการแล้ว
แต่ก็ยังเปล่าเปลืองเวลากระทำกิจกรรมอันซ้ำซ้อนเช่นที่กล่าวนั้นกันอยู่
เหมือนสิ้นไร้สติปัญญา สยบยอมต่อความเคยชิน
แม้บางครั้งจะถูกปลุกให้ตื่นให้รู้ตัวและเห็นทางเลือกที่ดีกว่า
ก็ยังจำนนที่จะเป็นอยู่เช่นนั้น อ้างแต่ว่าหน่วยงานข้างบน เช่นกระทรวงฯ และ
สพฐ. มีนโยบายลงมาอย่างนั้นอย่างนี้
แม้ข้ออ้างที่ว่านั้นจะมีมูลความจริงอยู่บ้างก็ตาม
แต่หากไตร่ตรองดูให้ถี่ถ้วนก็จะเข้าใจได้ว่าไม่มีนโยบายใดๆ
ที่ต้องการเพียงรายงานเอกสารข้อมูลที่ไปไม่ถึงสัมฤทธิผลแท้จริงหรอก
จะมีสักกี่คนที่สามารถแปรรูปนโยบายให้แม่นตรงต่อการบริหารจัดการและการเรียน
การสอนที่จะเกิดสัมฤทธิผลแท้จริงตามมาตรฐานหลักสูตรและ “ตัวชี้วัด” นั่นต่างหากคือประเด็นสำคัญที่พึงกระทำ
๖.น่าเศร้านักที่ครูและผู้บริหารการศึกษาซึ่งจบปริญญาตรี โท เอก
และแถมยังมีตำแหน่งทางวิชาการ
ที่ล้วนกินเงินเดือนอันเป็นเงินภาษีของราษฎรในแผ่นดินคนละ ๑๕,๐๐๐ บาท ถึง
๕๐,๐๐๐ กว่าบาท ยังคงถูกปล่อยปละละเลยให้ทำงานแบบไร้คุณภาพ แฟบฝ่อสติปัญญา
และไร้อนาคตอีกมากมายอยู่เช่นนั้น
...
ฉันกำลังแสวงหา "มิตรผู้ไม่โมฆะ" ท่ามกลางสถานการณ์อันเป็น “โมฆะ”
ดังที่กล่าวมา...หากครู ผู้บริหาร
และข้าราชการท่านใดมิได้เป็นเช่นนั้นก็ไม่ต้องร้อนตัวนะครับ
แต่ท่านที่มีคุณภาพทั้งหลายจะต้องลุกขึ้นมาก้าวนำ ทำในสิ่งที่ถูกต้อง
ปฏิเสธในสิ่งที่รู้ว่าไม่ใช่และไม่เป็นประโยชน์
ช่วยกันผลักเคลื่อนระบบและองคาพยพการศึกษาให้พัฒนาไปสู่ทิศทางที่แม่นตรง
เถิด แต่หากท่านตื่นรู้แล้วก็ยังร่วมกระทำผิดซ้ำซากกับบุคคลผู้ไร้คุณภาพ
ไร้คุณธรรม และไร้จิตสำนึกเหล่านั้นอยู่ ท่านก็ไม่ต่างอะไรกับ “โมฆคุรุ” เหล่านั้นหรอก!
โอ้...เมื่อครูผู้สอนคนในประเทศของฉันเป็นเช่นนี้ ก็มิต้องพูดถึงมวลมหาประชากร (ส่วนใหญ่) ที่เป็นผลผลิตของ "โมฆสิกขา" กันอีกแล้ว ว่าพวกเขาจะเป็นไปเช่นไรกันบ้าง
๑๗.๔.๒๕๕๘
ที่มาโพสต์นี้ คลิกที่นี่
ติดตามโพสต์ได้ที่
https://www.facebook.com/tungsakasome