’มศว’ รุกงานเครือข่ายเพื่อสังคม




      
'มศว' รุกงานเครือข่ายเพื่อสังคม


          ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนาเรื่องบริบท SE (กิจการเพื่อสังคม) กับการเปลี่ยนสังคมไทย ว่า สังคมไทยเราพูดถึงเรื่องสันติสุข แต่จะไม่มีทางสงบได้หากในประเทศยังมีความขัดแย้งการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ สังคมถาโถมเข้ามาตลอดเวลา ความรู้สึกของผู้คนไม่สงบ ผู้คนในสังคมส่วนใหญ่มีความทุกข์เพราะรู้สึกว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมเกิดขึ้น เหตุการณ์ของสังคมไทยจึงเหมือนคลื่นใต้น้ำ หรือยอดภูเขาน้ำแข็ง เมื่อเกิดภาวะวิกฤติภูเขาน้ำแข็ง จะขยับและพร้อมจะยกตัว เมื่อเกิดปัญหาทางความรู้สึกของผู้คนในประเทศ ปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ และปัญหาสังคมจะถูกยกขึ้นมาพูดถึง แต่เมื่อการเมืองได้รับการดูแลแก้ไข ปัญหาอื่นๆ ที่ถูกพูดกลับไม่ได้รับการเหลียวแลหรือสานต่อ
          มศว ในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษา จำเป็นต้องมาวางแผนเพื่อแก้วิกฤติประเทศอย่างจริงจัง มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีพันธกิจ 4 ด้าน คือจัดการเรียนการสอน วิจัย บริการวิชาการ ทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม เราทำงานประจำจนคิดไม่ออกว่า งานเหล่านี้สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม และมีผลกระทบและเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้อย่างไร ทุกวันนี้เราสื่อสารเรื่องเหล่านี้กันไม่รู้เรื่อง ไม่มีที่ปรึกษา มองประเด็นพันธกิจแคบ ขณะนี้ มศว ได้ดำเนินการทบทวนวรรณกรรมงานด้านวิชาการเกี่ยวกับกิจการเพื่อสังคมในประเทศไทย และจากประเทศอื่นๆ ว่าเขามีรูปแบบ วิธีการ วิธีคิดอย่างไร ต่อจากนั้น มศว จะทำแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับกิจการเพื่อนสังคมในระดับชาติ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ เข้ามาลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม รูปแบบที่ มศว  ทำนั้นบางประเด็น มศว จะดำเนินการเอง และในบางประเด็นจะเสนอผ่าน ทปอ. หรือเสนอต่อสถาบันคลังสมองแห่งชาติ บางเรื่องเราก็ต้องรอรัฐบาล หรือเสนอต่อ สำนักงานสร้างเสริมกิจการสังคมแห่งชาติ (สกส.) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ตอนนี้ มศว ปรับกระบวนทัศน์ด้านการเรียนการสอนของวิทยาลัยโพธิวิชาลัย คณะสังคมศาสตร์ โดยมุ่งเน้นวิชาหลักสูตรด้านกิจการเพื่อสังคมเพิ่มขึ้น ตลอดถึงมีการวิจัยเพื่อรับใช้สังคมในปริมาณที่มากขึ้นด้วย
          ผศ.นพ.เฉลิมชัย กล่าวอีกว่า ตนอยากเน้นวัฒนธรรมเอื้ออาทร ทางสายงานวิชาการ ซึ่งก็คือการบำรุงวัฒนธรรมไทยภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งงานวัฒนธรรมไทยมิได้หมายความว่ารณรงค์เพียงแค่การสวมใส่ผ้าไทยเท่านั้น ต่อแต่นี้ไปเราต้องวางความสำคัญของตัวเราเอง ไม่ให้สูงกว่าความสำคัญของประเทศชาติ เราจะได้เสียสละเพื่อส่วนรวมได้มากขึ้น ชาวมหาวิทยาลัยไม่ควรดีใจกับคะแนนการประกันคุณภาพองค์กรที่เพิ่มสูงขึ้น หากประเทศชาติยังอ่อนแอ แนวทางการประกันคุณภาพองค์กรมีคะแนนดีขึ้น ทั้งนี้ก็ควรจะส่งผลดีต่อประเทศชาติในทางรูปธรรมด้วย ถึงจะเรียกว่าการประกันคุณภาพองค์กรที่มีคุณภาพ

     

     ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง


โพสเมื่อ : 09 เม.ย. 57   อ่าน 1407 ครั้ง      คำค้นหา :