ชี้สนามฟุตซอลโคราช แพงเว่อร์-ไร้มาตฐาน ลุยอีก17จว.ราคาสูงลิ่ว689ล้าน



ป.ป.ท.เผยตรวจสนามฟุตซอลที่โคราช 39 แห่ง จากทั้งหมด 50 แห่ง พบไม่ได้มาตรฐานและแพงเกินจริง เล็งกระจายกำลังตรวจทั้ง 17 จังหวัด


จากกรณีเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการทุจริตโครงการสร้างสนามฟุตซอล ในพื้นที่ อ.ประทาย จ.นครราชสีมา หลังมีผู้ร้องเรียนไปยังคณะทำงานด้านกฎหมายกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองทัพภาคที่ 2 ว่าโครงการดังกล่าวมีการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน อีกทั้งยังอาจเข้าข่ายการทุจริต


 


ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม หนึ่งในคณะทำงานสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เปิดเผยว่า สำหรับการดำเนินการตรวจสอบโครงการสร้างสนามฟุตซอลในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ได้รับงบประมาณดำเนินการจำนวน 50 โรงเรียน เป็นเงินทั้งสิ้น 175 ล้านบาท แบ่งเป็นโรงเรียนที่ได้รับงบประมาณสร้างสนามฟุตซอล โรงเรียนละ 5 ล้านบาท จำนวน 11 โรงเรียน และโรงเรียนละ 2 ล้าน 5 แสนบาท จำนวน 39 โรงเรียน ซึ่งผลการดำเนินการตรวจสอบ เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ท.ได้ดำเนินการตรวจสอบไปแล้วทั้งสิ้น 39 โรงเรียน พบว่าทุกโครงการมีรูปแบบและพฤติกรรมเป็นแบบเดียวกันทั้งหมด ซึ่งทำให้มีข้อสงสัยว่าบริษัทที่ชนะการเสนอราคาเข้ามานั้น เป็นบริษัทที่อยู่ในเครือเดียวกัน และมีการกระทำผิดที่ส่อไปในแนวทุจริตเป็นกระบวนการ อย่างไรก็ตาม ก็จะต้องรวบรวมข้อมูลและเอกสารต่างๆ เพื่อนำมาประกอบกัน ซึ่งเหลืออยู่ 11 โรงเรียน ทางเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้า ก่อนที่จะรวบรวมผลการตรวจสอบทั้งหมดส่งไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ท. เพื่อพิจารณาต่อไป


"อย่างไรก็ตาม ทางเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท.จะมีนโยบายให้มีการดำเนินการตรวจทั้ง 17 จังหวัด ที่ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างสนามฟุตซอล ทั้ง 358 โรงเรียน เป็นงบประมาณทั้งสิ้นกว่า 689 ล้านบาท เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในการจัดซื้อจัดจ้างและคุณสมบัติของวัสดุอุปกรณ์ ต่างๆ ว่าคุ้มกับจำนวนเงินที่ต้องเสียไปหรือไม่ โดยทาง ป.ป.ท.มีเป้าหมายในการตรวจสอบงบประมาณ 2.5 ล้านบาท และงบประมาณ 5 ล้านบาท เป็นจุดแรก เนื่องจากผลการดำเนินการตรวจสอบ 39 โรงเรียนที่ผ่านมา พบว่าสนามฟุตซอลที่สร้างมาในงบประมาณดังกล่าวนั้นไม่มีคุณสมบัติที่ตรงตาม กำหนด อีกทั้งตัววัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ก็ไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้น จึงจะต้องมีการตรวจสอบทุกจังหวัดที่ได้รับงบประมาณไป และจุดที่สองที่จะมีการตรวจสอบต่อไป คือตัวงบประมาณ 2 ล้านบาท และ 1 ล้านบาท ว่าโรงเรียนที่ได้รับงบประมาณนั้นไปนำไปใช้ประโยชน์อะไร คุ้มค่ากับจำนวนงบประมาณที่ให้ไปหรือไม่ ซึ่งจะต้องรับรับนโยบายจากทาง เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท.ว่าจะมีการสั่งการอย่างไรต่อไป" แหล่งข่าวกล่าว


 


นายพิสิฏฐ์ สกาญจนชัย ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เขตพื้นที่ 6 กล่าวถึงกรณีมีการตรวจสอบทุจริตโครงการจัดสร้างสนามฟุตซอลมีการใช้งบประมาณ สูงเกินจริงและเป็นสนามไม่ได้มาตรฐานว่า สำหรับในพื้นที่ จ.พิษณุโลก ยังไม่ได้รับรายงานอะไรว่าในพื้นที่มีสนามฟุตซอลกี่แห่ง หลังจากมีข่าวออกมา ขณะนี้กำลังตรวจสอบไปที่ส่วนกลางต้นสังกัด ว่ามีข้อมูลในเรื่องนี้อย่างไรหรือไม่ เวลานี้จึงยังไม่สามารถให้ข้อมูลอะไรได้


แหล่งข่าวจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พิษณุโลก กล่าวว่า ทาง อบจ.พิษณุโลกกำลังถูกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พิษณุโลก ตรวจสอบการใช้งบประมาณในการสร้างสนามฟุตซอล ทาง อบจ.อุดหนุนโรงเรียน 40 แห่งในพื้นที่ 9 อำเภอของจังหวัดพิษณุโลก เนื่องจากเป็นโครงการที่โอนเงินการจัดสร้างให้แต่ละโรงเรียนไปดำเนินการแห่ง ละ 2-3 ล้านบาท บางโรงเรียนก็รายงานการจัดสร้างกลับมา แต่มีบางโรงเรียนไม่รายงานผลกลับ อ้างว่าไม่ได้เป็นผู้ยื่นเรื่องขอ ขณะนี้ สตง.จึงจี้ติดตามรายงานผล


นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ทราบเรื่องแล้ว และขอให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) นครราชสีมา ตรวจสอบรายละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้น อย่างไรก็ตาม มีโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลจริง ซึ่งเป็นงบประมาณแปรญัติในปีงบฯ 2555 ก่อนที่ตนจะเข้ามาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กพฐ. ดังนั้นจึงไม่รู้รายละเอียดในการจัดซื้อจัดจ้างว่าแพงเกินกว่าราคาจริงหรือ ไม่

ขอบคุณภาพและข่าวจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 03 ตุลาคม พ.ศ. 2557


โพสเมื่อ : 03 ต.ค. 57   อ่าน 3511 ครั้ง      คำค้นหา :