"สอศ." ปัดพัลวัน เรื่อง "ห้ามเด็กเจาะหู-มีรอยสัก" เข้าเรียน แจง "เป็นความผิดพลาดเรื่องการสื่อสา



สร้างความฮือฮาบนหน้าหนังสือพิมพ์ได้เพียงวันเดียว ก็ต้องออกมาแก้ข่าวสำหรับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ออกมาขานรับคำสั่งของ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ได้ประกาศให้เร่งแก้ไขปัญหาความรุนแรงและเหตุทะเลาะวิวาทของนักศึกษาอาชีวศึกษาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยประกาศให้เรื่องนี้เป็น 1 ใน 10 นโยบายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการให้เห็นผลใน 3 เดือน

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาสั่งการให้มีการจัดระเบียบเรื่องนักเรียนตีกัน โดยสั่งปิดสถาบันทันทีที่ตีกันเพื่อป้องกันการก่อเหตุซ้ำ

โดยหนึ่งในมาตรการของ สอศ.ที่สร้างความฮือฮาไม่แพ้การสั่งปิดสถาบันของนายกฯ ก็คือ

การออกข่าวสั่งการให้วิทยาลัยอาชีวะกลุ่มเสี่ยง 21 แห่ง คัดกรองเด็กที่มีความประพฤติดี ไม่มีประวัติยกพวกตีกัน เจาะหู หรือรอยสักตามร่างกายเข้าเรียน เพื่อหวังแก้ไขปัญหาการก่อเหตุทะเลาะวิวาทซ้ำซาก


มาตรการนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ว่าเป็นการลิดรอนสิทธิ ไม่เป็นธรรม เพราะการเจาะหูและสักร่างกาย บางครั้งก็เป็นเรื่องของแฟชั่น ไม่ได้หมายความว่าคนคนนั้นจะเป็นคนไม่ดี
และถ้าหากบุคคลเหล่านั้น เป็นคนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะก่อเหตุทะเลาะวิวาทจริง ไม่เท่ากับว่าเป็นการผลักดันพวกเขาให้ไปสร้างความเดือดร้อนให้นักเรียนนักศึกษาดีๆ สถาบันอื่นหรือไม่

เสียงสะท้อนจากสังคมบางส่วนจึงมองว่า เป็นมาตรการสุดโต่งและเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด เช่นเดียวกับมาตรการปิดสถาบันของนายกรัฐมนตรี หลายเสียงสะท้อนว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่รุนแรงเกินไปหรือไม่ ในขณะที่ยังมีเด็กดีๆ เรียนในสถาบันดังกล่าว ซึ่งจะพลอยเดือดร้อนไปด้วย

ขณะที่บางส่วนสนับสนุน เนื่องจากมองว่าการทะเลาะวิวาท ไม่ได้แค่สร้างความเดือดร้อน บาดเจ็บล้มตายและสูญเสียทรัพย์สินแก่คู่กรณีเท่านั้น แต่หลายกรณีทำให้ชาวบ้านที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่เดือดร้อน บาดเจ็บเสียชีวิตและสูญเสียทรัพย์สินด้วย ซึ่งที่ผ่านมาใช้มาตรการหลากหลายแล้ว แต่ก็ไม่สำเร็จ จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องเพิ่มระดับความรุนแรงของมาตรการลงโทษ

อย่างไรก็ตาม สำหรับมาตรการห้ามเด็กเจาะหูและสักตามร่างกายเข้าเรียนนั้น นายชัยพฤกษ์ก็ออกมาชี้แจงแล้วว่า

"เป็นความเข้าใจผิดในเรื่องการสื่อสาร โดยยืนยันว่า สอศ.ไม่ได้สั่งให้วิทยาลัยไม่รับเด็กที่เจาะหู หรือมีรอยสักเข้าเรียนในปีการศึกษา 2558 เพราะการรับนักเรียนนักศึกษาเป็นดุลพินิจของสถานศึกษา และการเจาะหูและสักร่างกาย เด็กๆ ก็ทำกันเยอะ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเป็นคนไม่ดี ไม่สามารถมาเรียนอาชีวะได้ ตรงกันข้าม สอศ.รณรงค์ให้เด็กมาเรียนสายอาชีพมากขึ้นเพื่อผลิตช่างฝีมือออกมารับใช้ประเทศ"
ข่าวแว่วว่า ในที่ประชุม ผู้บริหาร สอศ.ท่านหนึ่งยกตัวอย่างว่าวิทยาลัยบางแห่งอาจจะไม่รับเด็กที่มีประวัติก่อเหตุทะเลาะวิวาท รวมถึงเจาะหูและสักตามร่างกาย แต่ก็เป็นเพียงแค่การยกตัวอย่างมาตรการของวิทยาลัยบางแห่ง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าส่วนกลางจะออกมาตรการดังกล่าวมาควบคุมหรือสั่งการให้วิทยาลัยกลุ่มเสี่ยงต้องปฏิบัติตามด้วย

"ความพยายามที่จะแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการทะเลาะวิวาทซ้ำซาก เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าหากเป็นมาตรการที่แก้ไขได้ไม่ตรงจุด หรือสุดโต่งเกินไป ก็น่าหวั่นใจว่าแทนที่จะแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน จะกลายเป็นการสร้างปัญหาใหม่ๆ ขึ้นมาหรือไม่??"

ที่มา : นสพ.มติชน

โพสเมื่อ : 29 ก.ย. 57   อ่าน 1474 ครั้ง      คำค้นหา :