ก.ค.ศ.ไฟเขียวเกณฑ์คัดครูผช.ทั่วไป สพฐ.ออกข้อสอบภาค ก-จัดสอบอังกฤษเพิ่ม



ก.ค.ศ.ไฟเขียวเกณฑ์คัดครูผช.ทั่วไป สพฐ.ออกข้อสอบภาค ก-จัดสอบอังกฤษเพิ่ม / เห็นชอบเขตฯ รับ ’วิชาเอกทั่วไป’ตามอัตราว่าง

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน นางศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า จากการประชุม ก.ค.ศ.ที่มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมเห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคล เข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วยกรณีทั่วไป สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยในการสอบภาค ก กำหนดให้ สพฐ.เป็นผู้บริหารจัดการออกข้อสอบแทนเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้ข้อสอบเป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะเพิ่มการสอบความรู้ภาษาอังกฤษด้วย เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยให้ สพฐ.นำข้อสอบมอบให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ.สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ เป็นผู้ดำเนินการสอบภาค ก โดยผู้ที่มีคะแนนสอบภาค ก ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 จะมีสิทธิสอบ ภาค ข ความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่งวิชา และภาค ค การสอบสัมภาษณ์ โดยการออกข้อสอบ และการสอบภาค ข และภาค ค จะดำเนินการสอบโดย อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ผู้ที่มีสิทธิขึ้นบัญชี 2 ปี จะต้องได้คะแนนในแต่ละภาค ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 และรวมกันไม่น้อยกว่า ร้อยละ 60

นางศิริพรกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังเห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลฯ ครูผู้ช่วยกรณีที่มีความจำเป็น หรือมีเหตุพิเศษ ที่ส่วนใหญ่ยังใช้หลักเกณฑ์เดิม เช่น กำหนดให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ เป็นผู้ดำเนินการสอบคัดเลือกทุกขั้นตอนเอง แต่มีส่วนที่เพิ่มเติมคือ การสอบความรู้ความสามารถด้านภาษาอังกฤษ และเห็นชอบให้เปิดสอบวิชาเอกทั่วไปตามกรอบอัตรากำลังที่มีอยู่แต่ละเขต พื้นที่ฯได้ เพราะที่ผ่านมามีเขตพื้นที่ฯเปิดสอบในสาขาวิชาเอกทั่วไปกันน้อยมาก ทำให้ผู้ที่จบสาขานี้ไม่มีโอกาสได้สอบบรรจุ นอกจากนี้ ยังเพิ่มเติมคำนิยามของครูอัตราจ้าง พนักงานราชการ ที่ปฏิบัติงานครบ 3 ปีที่มีสิทธิสอบคัดเลือกให้ชัดเจน เนื่องจากที่ผ่านมาบางโรงเรียนได้ใช้เงินที่อ้างว่าเป็นรายได้ของสถานศึกษา มาจ้างครูอัตราจ้าง หรือพนักงานราชการ แต่เมื่อตรวจสอบแล้วอาจไม่ใช่รายได้ที่แท้จริงของโรงเรียน ดังนั้น จึงต้องกำหนดคำนิยามเงินรายได้ของสถานศึกษา ว่าเป็นเงินบริจาค ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ ค่าตอบแทนจากการให้บริการ การลงทุน การใช้ทรัพย์สินของสถานศึกษา โดยนำเข้าระบบบัญชีของสถานศึกษา และนำไปใช้จ่ายตามกฎหมาย หรือระเบียบที่ทางราชการกำหนด หรือเงินรายได้อื่นตามกฎหมาย หรือระเบียบว่าด้วยการนั้น

"ก.ค.ศ.ยังเห็นชอบหลักเกณฑ์การสอบคัดเลือกรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สพฐ.ที่จะมอบอำนาจให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ หรือ อ.ก.ค.ศ.สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ เป็นผู้ดำเนินการคัดเลือก โดยให้ สพฐ.เป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการในการออกข้อสอบภาค ก ส่วนภาค ข ให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯออกข้อสอบ โดยจะต้องแบ่งผู้เข้ารับการสอบคัดเลือกเป็นกลุ่มทั่วไป และกลุ่มประสบการณ์ โดยให้ขึ้นบัญชีผู้ที่ได้คะแนนผ่านเกณฑ์ร้อยละ 60 เรียงลำดับตามคะแนนจากมากไปน้อย และให้ขึ้นบัญชีไว้ 2 ปี และ ในการประกาศตำแหน่งว่าง ให้ประกาศตำแหน่งว่างในปัจจุบัน โดยให้ สพฐ.เป็นผู้ดำเนินการกำหนดปฏิทินการสอบคัดเลือกต่อไป" นางศิริพรกล่าว

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน


โพสเมื่อ : 24 พ.ย. 57   อ่าน 1582 ครั้ง      คำค้นหา :