สร้างอาชีพแก่เด็กพิเศษพึ่งพาตัวเองได้ในอนาคต




      


          เหรียญชัย จันทร์สุภาเสน
          ประเทศไทยมีเด็กด้อยโอกาสจำนวนมากกว่า 6 ล้านคน ทั้งเรื่องของการศึกษาและโอกาสในสังคม และมีเด็ก ออทิสติกหรือเด็กที่มีความบกพร่องทาง ด้านการเรียนรู้ จำนวนกว่า 2,500,000 คน คิดเป็น 1 ใน 5 ของเด็กในวัยเรียนในระดับชั้นอนุบาล-มัธยม หรือช่วงอายุ 3-18 ปี และถือว่าเป็นวัยเรียน ซึ่งทางจังหวัดเชียงรายเองปัจจุบันนี้มีเด็กด้อยโอกาสจำนวนมาก ทั้งเด็กกำพร้าและเด็กยากจนบนพื้นที่ภูเขาสูง หรือเด็กชาวไทยภูเขา หรือแม้กระทั่งเด็กไร้สัญชาติ
          โรงเรียนเชียงรายปัญญานุกูล ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมือง จ.เชียงราย เป็นอีกโรงเรียนหนึ่งที่เปิดการเรียนการสอนให้กับเด็กพิเศษ หรือเด็กพิการทางสมอง ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 62 ไร่ บนพื้นที่สาธารณประโยชน์ของสภาเทศบาล ต.ป่าอ้อดอนชัย เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2539 เพื่อรองรับและพัฒนาศักยภาพการศึกษาเด็กพิการทางสมองในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง และได้เปิดอย่างเต็มรูปแบบเมื่อปี พ.ศ.2546 เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล-มัธยมปลาย มีบุคลากรครูผู้สอนกว่า 50 คน
          นายกมล ดาระสุวรรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเชียงรายปัญญานุกูล บอกว่า ปัจจุบันนี้มีนักเรียนทั้งหมด 444 คน ทั้งแบบอยู่ประจำและไปกลับ ประกอบด้วย เด็กพิการทางสมอง หรือเด็กพิเศษ และเด็กพิการที่มีความบกพร่องทางด้านอื่นร่วมด้วย เช่น บกพร่องทางร่างกาย บกพร่องทางการพูดหรือภาษา และเด็กพิการซ้ำซ้อน เด็กๆ เหล่านี้จะมีปัญหาการเรียนรู้ พฤติกรรมทางอารมณ์ ซึ่งมีขีดความสามารถในการรับรู้ที่น้อยและช้ากว่าเด็กปกติอยู่มาก จึงต้องปรับการเรียนการสอนแบบบูรณาการ และต้องใช้ครูผู้สอนที่มีใจรักและความสามารถเฉพาะด้านการสอนเด็กพิเศษ และมุ่งเน้นไปที่หลักการใช้ชีวิตจริงในสังคม มีอาชีพติดตัว พึ่งพาตัวเองได้โดยไม่เป็นภาระกับ สังคม จึงได้เกิดแนวคิดการฝึกอาชีพให้กับเด็กๆ ในระดับชั้นมัธยมได้นำไปใช้เพื่อเลี้ยงตัวเองได้ และอยู่ได้ด้วยตนเอง ไม่เป็นภาระต่อสังคม
          นายกมลบอกว่า เนื่องจากขีดความสามารถการรับรู้การเรียนของเด็กพิเศษมีจำกัด จึงได้แบ่งกลุ่มนักเรียนออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่เรียนได้และกลุ่มที่ฝึกได้ โดยใช้หลักสูตรสำหรับผู้บกพร่องทางสติปัญญา เพื่อฝึกทักษะ จึงได้เกิดแนวคิดการจัดตั้ง โครงการเรียนรู้เพื่อมีงานทำ โดยครึ่งวันแรกสอนทางด้านวิชาการทั่วไป เช่น ภาษาไทย อังกฤษ คณิตศาสตร์ และหลักการใช้ชีวิตทั่วไป ส่วนภาคบ่ายก็จะสอนวิชาชีพต่างๆ เช่น การทำขนม การชงกาแฟสด กาแฟโบราณ และงานประดิษฐ์ของที่ระลึก เช่น ไม้มงคล เพนต์กระเป๋า และสินค้ากิฟต์ช็อป จัดการสอนโดยวิทยาลัยการอาชีพร่วมกับคณะครูในโรงเรียน ของที่เด็กนักเรียนช่วยกันทำก็จะนำไปจำหน่ายที่จุดจำหน่ายสินค้านักเรียน บริเวณหน้าวัดร่องขุ่น และได้รับการสนับสนุนจาก นายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ และสำนักงานการศึกษาพิเศษ โดยใช้พื้นที่ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นจุดจำหน่ายสินค้าของเด็กนักเรียน โดยเป็นผลผลิตของเด็กนักเรียน มีทั้งกาแฟสดรสชาติดี กาแฟโบราณที่มีรสกลมกล่อม และของที่ระลึกที่เด็กๆ ช่วยกันทำ ราคาสินค้าที่จำหน่ายก็มีราคาไม่แพง เริ่มต้นที่ 15-200 บาท ซึ่งเงินจากการขายของได้เด็กนักเรียนจะมีความภาคภูมิใจเพราะเป็นความสามารถของพวกเขาเอง
          น.ส.เสาวภา เพียรจริง ครูผู้สอนบอกว่า การสอนนักเรียนซึ่งเป็นเด็กพิเศษจะ แตกต่างจากการสอนเด็กปกติมาก จึงต้องมีความใจเย็นและอดทน เนื่องจากขีดความสามารถการรับรู้ของเด็กพิเศษจะน้อยมาก และมีสมาธิที่สั้น จึงใช้หลักการสอนแบบสอนซ้ำๆ บ่อยๆ และให้เด็ก ทำเป็นประจำ ควบคู่ไปกับการเรียนที่มี ความสุข และเมื่อเด็กทำสำเร็จแล้วได้รับ คำชม พวกเขาจะมีความสุขและเกิดความภูมิใจที่ตนเองก็สามารถทำได้ ซึ่งตรง กับหลักการสร้างความภูมิใจในการทำงาน
--จบ--

          --มติชน ฉบับวันที่ 29 พ.ค. 2557 (กรอบบ่าย)--


โพสเมื่อ : 28 พ.ค. 57   อ่าน 1334 ครั้ง      คำค้นหา :