สมศ.ร่วมกับสำนักงานคลังสมองวปอ.ระดมความคิดแก้วิกฤตคุณภาพมหาวิทยาลัยไทย
สมศ.ร่วมกับสำนักงานคลังสมองวปอ.ระดมความคิดแก้วิกฤตคุณภาพมหาวิทยาลัยไทย
ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตร ฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. เปิดเผยถึงผลการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสำนักงานคลังสมอง วปอ. เพื่อสังคม เกี่ยวกับการศึกษาไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับสถานะของมหาวิทยาลัยไทย เมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในเอเชีย ซึ่งได้นำเสนอให้เห็นว่า ปัญหาคุณภาพการศึกษาไทยในภาพรวมที่ปัจจุบันที่ถือเป็นจุดอ่อนจนอาจถึงขั้นวิกฤต มีสาเหตุสำคัญ 3 ประการ คือ 1.ขาดความต่อเนื่องเชิงนโยบายจากการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย 2.ขาดการกำกับเชิงปริมาณในทุกระดับ และ 3.ขาดการควบคุมเชิงคุณภาพ ดังจะเห็นได้จากการที่มหาวิทยาลัยใหม่ๆ หลายแห่งขยายตัวอย่างรวดเร็วแบบไร้ทิศทาง ทั้งการบริหารโครงสร้างการเรียนการสอน หลักสูตร การเปิดสอนทั้งในเวลาและนอกเวลา ในที่ตั้ง นอกที่ตั้ง ที่เป็นไปในลักษณะเชิงธุรกิจมากขึ้น ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจำเป็นต้องหามาตรการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยกำกับและควบคุมคุณภาพและจำนวนที่เหมาะสมเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ การทดสอบเด็กไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพที่แท้จริง เห็นได้จากการที่นำจี-แพกซ์ มาเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการสอบแอดมิชชั่นเพื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัย ซึ่งพบว่าผลสอบจี-แพกซ์ เฉลี่ยเพิ่มขึ้นทุกปี โดยขณะนี้ทั้งประเทศมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3 กว่า เป็นเพราะสถานศึกษาต้องการให้เด็กของตนเองสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ นอกจากนี้การผลิตบัณฑิตไม่ได้เป็นไปตามความต้องการของตลาดหรือสังคม แต่เป็นการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียน ดังนั้นในอนาคตจะมีบัณฑิตจำนวนมากที่ตกงาน แต่ในขณะเดียวกันสังคมกลับขาดแคลนแรงงานหรือวิชาชีพที่จำเป็นเมื่อเข้าสู่การเปิดเสรีประชาคมอาเซียน ศ.ดร.ชาญณรงค์กล่าว ผอ.สมศ.กล่าวด้วยว่า นโยบายเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ถือเป็นสิ่งที่ดีในการเพิ่มระดับรายได้ของคนจบปริญญาตรี แต่ในทางกลับกันได้ส่งผลกระทบต่อนโยบายการเพิ่มผู้เรียนเข้าศึกษาต่อด้านการอาชีวศึกษาโดยตรง เพราะเด็กทุกคนจะมุ่งเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีกันหมด ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่การเปิดเสรีประชาคมอาเซียนและต้องการเพิ่มสัดส่วนอาชีวศึกษาให้มากขึ้นเพื่อรองรับภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ส่วนอีกนโยบายที่เป็นการทำลายระบบคุณภาพคือการไม่มีตกซ้ำชั้น ซึ่งสถิติเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ในปัจจุบันมีมากถึง 30 เปอร์เซ็นต์ทั่วประเทศ แต่นักเรียนสามารถเลื่อนชั้นได้เพราะดำเนินตามนโยบายนี้ ส่งผลกระทบโดยตรงกับตัวป้อนเข้าสู่ระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาที่อ่อนแอลง
--ข่าวสด ฉบับวันที่ 11 ก.ค. 2557 (กรอบบ่าย)-- |
โพสเมื่อ :
10 ก.ค. 57
อ่าน 1359 ครั้ง คำค้นหา :
|
|