เผยผลสำรวจพยาบาลไทยเกือบ 50% เครียดจากทำงาน ต้องพึ่งยานอนหลับ-คุณภาพชีวิตต่ำ
เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์
สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ ร่วมกับ
โครงการวิจัยสุขภาพและชีวิตการทำงานของพยาบาลไทย (TNCs) แถลงข่าว เรื่อง
“ผลวิจัยคุณภาพชีวิตพยาบาล”
เพื่อติดตามภาวะสุขภาพและปัจจัยเสี่ยงในการทำงานของพยาบาล โดยดร.กฤษดา
แสวงดี หัวหน้าโครงการวิจัยสุขภาพและชีวิตการทำงานของพยาบาลไทย กล่าวว่า
จากการเก็บข้อมูลพยาบาลวิชาชีพทั่วประเทศ จำนวน 18,765 คน พบว่า
พยาบาลมากกว่าครึ่งมีความเครียด โดย 45.5 %
มีความเครียดจากการทำงานอยู่ในระดับสูง ประมาณ 1 ใน 3
มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ และ 8-10 % เคยใช้ยานอนหลับ
ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของความเครียดในการทำงาน
คือลักษณะการทำงานเป็นเวรผลัดต่อเนื่องเป็นเวลานานมากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน
ทั้งนี้ ความเครียดจากการทำงานสูงมีความสัมพันธ์กับการบาดเจ็บ
ถูกเข็มทิ่มตำ การบาดเจ็บจากของมีคม และเจ็บป่วยด้วยโรคกระดูกแลกล้ามเนื้อ
ดร.กฤษดา กล่าวต่อว่า สำหรับดัชนีคุณภาพชีวิต ด้านสุขภาพ
พบว่าพยาบาลไทยอยู่ในระดับ 0.75
ซึ่งต่ำกว่าผู้หญิงไทยที่ประกอบอาชีพอื่นๆที่มีดัชนีอยู่ที่ 0.95 รวมถึง
ต่ำกว่าในประเทศอังกฤษที่อยู่ที่ 0.85 และประเทศสวีเดนที่อยู่ที่ 0.83
โดยพยาบาลอายุน้อยจะมีคุณภาพชีวิตเนสุขภาพต่ำกว่าระดับอาวุโส
ซึ่งสัมพันธ์กับความมั่นคงในการทำงาน ส่งผลให้มีการลาออกหรือเปลี่ยนอาชีพ
เฉลี่ยอายุการทำงานในวิชาชีพเพียง 22.5 ปี นอกจากนี้ พบว่า ในรอบ 1
ปีที่ผ่านมา พยาบาลไทยประมาณ 1 ใน 5 เคยประสบความรุนแรงจากการทำงาน
และตั้งใจที่จะออกจากงานภายใน 1-2 ปีหรือมากกว่า 2
ปีมากกว่าพยาบาลที่ไม่เคยประสบความรุนแรงจากการทำงาน
ดร.กฤษฎา กล่าวด้วยว่า
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการสร้างความปลอดภัยในการทำงานของพยาบาล ได้แก่
1.ให้ความรู้เพื่อให้พยาบาลวิชาชีพและบุคลากรสหสาขาวิชาชีพด้านสุขภาพ
ตระหนักถึงภาวะคุกคามต่อสุขภาพในสถานที่ทำงาน ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
ด้วยการบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของวิชาอาชีวอนามัยของหลักสูตรพยาบาลวิชาชีพไทย
หรือเป็นส่วนหนึ่งในการปฐมนิเทศพยาบาลวิชาชีพจบใหม่
2.การกระตุ้นให้หน่วยบริการคำนึงถึงการดำเนินโครงการสร้างเสริมสิ่งแวดล้อม
ด้านบวก ครอบคลุมภาวะคุกคามสุขภาวะทุกประเภททั้งความรุนแรง
ความเครียดในการทำงาน และมลภาวะที่เป็นพิษต่างๆ อาทิ
การมีอัตรากำลังที่เพียงพอ
การมีเครื่องมืออุปกรณ์และเครื่องมือป้องกันอย่างเพียงพอ เป็นต้น และ 3.
ส่งเสริมให้มีการตรวจติดตามและประเมินผล
โครงการสร้างเสริมสิ่งแวดล้อมด้านบวก
และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาวิจัยและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและ
คุณภาพชีวิตของพยาบาลไทยอย่างต่อเนื่อง
เพื่อการปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพในการดูแลสุขภาพพยาบาลไทย
รศ.ดร.จินตนา ยูนิพันธ์ นายกสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า
ความไม่ปลอดภัยในการทำงานและคุณภาพชีวิตที่ต่ำของพยาบาล
อาจจะส่งผลกระทบต่อการดูแลคนไข้ได้
แม้พยาบาลจะพยายามอย่างเต็มที่ในการดูแลคนไข้แล้วก็ตาม
ข้อเสนอเชิงนโยบายดังกล่าว จะพยายามผ่านทุกช่องทางที่สามารถดำเนินการได้
เพื่อให้การป้องกันและดูแลคุณภาพชีวิตของพยาบาล อีกทั้ง
จะมีการประชุมสัมมนาพยาบาลทั่วประเทศ
เพื่อให้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นนำไปสู่แนวทางการแก้ปัญหา
ระหว่างวันที่ 9-13 พฤศจิกายน 2558
โดยหวังจะผลักดันเรื่องความปลอดภัยในการทำงานของพยาบาลเป็นวาระแห่งชาติ
ทั้งนี้ หากสภาพแวดล้อมในการทำงานไม่มีความปลอดภัยหรือคุณภาพชีวิตไม่ดี
จะส่งผลต่อการรักษากำลังคนด้านพยาบาลให้อยู่ในระบบสาธารณสุข
เสี่ยงกับการที่พยาบาลที่ยังมีอายุน้อยจะลาออกจากระบบในอีก 2 ปีข้างหน้า
ในทางกลับกันหากสิ่งแวดล้อมในการทำงานปลอดภัยและมีความสุขในการทำงาน
ก็จะสามารถดึงพยาบาลไว้ในระบบสาธารณสุขภาครัฐได้นาน
ที่มา ข่าวสดออนไลน์ วันที่ 05 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 |
โพสเมื่อ :
06 ก.พ. 58
อ่าน 1658 ครั้ง คำค้นหา :
|
|