มอ.เปิดทางให้นักวิจัยออกสู่ภาคเอกชนได้ทำงานแบบเต็มเวลาอุดปัญหาขาดนักวิจัยอุตสาหกรรม นายพีรพันธุ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวระหว่างการเปิดโครงการศูนย์อำนวยความสะดวก Talent Mobility ว่า การให้อุตสาหกรรมของประเทศแข่งขันกับประเทศอื่นได้นั้น เราต้องมาสนับสนุนกำลังคนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมให้มาก โดยเฉพาะอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ประเทศไทยเข้าสู่การแข่งขันกับตลาดโลกติดอันดับ 40 ของโลก ขณะที่ญี่ปุ่น เกาหลี ติดอันดับ 2 ของการแข่งขันทางการตลาด เพราะเขาเอาจริงเอาจังเรื่องการพัฒนากำลังคนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม การจะให้เอกชนลงทุนด้านกำลังคนเพียงอย่างเดียว โดยภาครัฐไม่ช่วยคงไม่ทันกับการแข่งขัน โครงการศูนย์อำนวยความสะดวกหรือ Talent Mobility จะทำให้เกิดการเลื่อนไหลของสมองจากมหาวิทยาลัยสู่อุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรม ถือเป็นการช่วยให้ประเทศเติบโตอย่างมีเป้าหมายและมีทิศทาง การที่มหาวิทยาลัยมีองค์ความรู้และนำไปสู่ภาคอุตสาหกรรม ถือเป็นการช่วยให้เอกชนรวยขึ้น ยิ่งเอกชนรวย ก็จะทำให้ประเทศชาติได้ประโยชน์ รัฐก็ได้รายได้เพิ่มจากเอกชน ภาพรวมของการแข่งขันระดับประเทศจะอยู่ในระดับแนวหน้า ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า เอกชนไทยให้ความสนใจลงทุนด้านการทำวิจัยในองค์กรตัวเองมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดี โดยคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 20,000 ล้านบาท และจะยิ่งสูงขึ้น ตอนนี้สิ่งที่เราต้องสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม คือ กำลังคน โดยภาครัฐตามหน่วยงานต่างๆ ตามสถาบันวิจัยของรัฐ ซึ่งได้แก่มหาวิทยาลัย ต้องเข้ามาสนับสนุนกำลังคน หากเราสามารถบริหารจัดการกำลังคนของภาครัฐให้เลื่อนไหลไปมาในภาคอุตสาหกรรมได้ อาจจะอยู่ในภาครัฐบ้าง อุตสาหกรรมบ้าง จะทำให้ภาพรวมทั้งระบบของการพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทยดีขึ้น ซึ่งจะมีกลไกที่เรียกว่า Talent Mobility เป็นการเอาคนเก่งไปช่วยภาคอุตสาหกรรม ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานประกอบการ ได้เข้ามาคุยและทำความร่วมมือกัน อาจจะขอให้นักวิชาการ นักวิจัยไปช่วยในหน่วยงานตัวเอง 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี หรือ 2 ปี เป็นการทำงานเต็มเวลาในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งทางมหาวิทยาลัยและสถานประกอบการต้องคุยและตกลงกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเวลา หรือค่าตอบแทน ผลงาน เมื่อมีโครงการ Talent Mobility แล้ว เราจะอำนวยความสะดวกให้ ส่วนงานต่างๆ ตั้งแต่มหาวิทยาลัย นักวิจัย สถาบันวิจัยและเอกชนโดยเฉพาะนักวิจัย ทำอย่างไรจึงจะมีแรงจูงใจอยากจะช่วยทำงานให้เอกชน พบว่านักวิจัยหรืออาจารย์ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ เป็นนักเรียนทุน มหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัยต้องเปิดทางให้อาจารย์หรือนักวิจัยที่จะไปทำงานเอกชน ต้องไม่ถือว่าเขาขาดราชการ ยังปฏิบัติราชการอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่เปลี่ยนที่ไปช่วยเอกชน ถ้าเป็นนักเรียนทุนที่ติดทุนอยู่ ไม่ว่าจะ 5 ปี 10 ปี 20 ปี ต้องถือว่าการไปช่วยงานเอกชนเป็นเวลาของการชดใช้ทุน ถ้าทำได้อย่างนี้นักวิจัยจะมีกำลังใจ ที่เป็นประโยชน์อีกประการหนึ่งก็คือ เมื่อนักวิจัยไปทำงานเอกชน เขาจะพานักศึกษา ป.เอก ป.โท ไปทำงานด้วย นิสิต นักศึกษา ป.โท ป.เอก จะเห็นการทำงานจริงนอกห้องเรียน ขณะเดียวกันจะเริ่มรู้ว่าอาชีพที่เขาชอบคืออะไรหรืองานที่ไม่ชอบ ทั้งนี้จะทำให้เขามีโอกาสที่ได้งานทำสูงขึ้นมาก เมื่ออาจารย์ นิสิต นักศึกษา กลับมาที่มหาวิทยาลัย จะทำให้เขานำประสบการณ์จริงมาใช้ ส่งผลให้การเรียนการสอนและการเชื่อมโยงกับเอกชนเพื่อทำวิจัยต่อเนื่องก็มากขึ้น ทั้งนี้ผลงานของอาจารย์สามารถนำมาขอผลงานทางวิชาการได้ด้วย สิ่งเหล่านี้เราต้องคุยกับทางมหาวิทยาลัย ตลอดถึงการได้รับทุนสนับสนุนจากเอกชนก็มากขึ้น ส่วนภาคเอกชนก็ได้รับความรู้ สิ่งประดิษฐ์ ทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มขึ้น ส่งผลถึงการผลิตสินค้าที่มีการพัฒนามากขึ้นด้วย ดร.พิเชฐ กล่าวว่า โครงการ Talent Mobility จะเป็นการปลดล็อกที่ว่าทำวิจัยแล้วขึ้นหิ้ง การทำงานกับเอกชนเขาไม่ปล่อยให้ขึ้นหิ้งเพราะเขาลงทุน มีเม็ดเงิน มีการลงทุน โครงการนี้จึงเป็นการแก้ปัญหาวิจัยแล้วขึ้นหิ้งได้ ในโครงการนี้จะเห็นว่า มีแต่ชัยชนะ ไม่ว่าจะเป็นนักวิจัย เอกชน มหาวิทยาลัย หรือสถาบันของรัฐต่างได้รับประโยชน์ร่วมกัน รศ.พีระพงศ์ ทีฆสกุล รองอธิการบดีฝ่ายระบบวิจัยและบัณฑิตวิทยาลัย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ถือเป็น ม.แรกที่ทำงานร่วมกับภาคเอกชน โดยเริ่มจากการทำระเบียบมหาวิทยาลัย และเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยจากนั้นมหาวิทยาลัยเห็นชอบ มอ.ก็ดำเนินการ ตอนนี้มีอาจารย์ออกไปช่วยอุตสาหกรรมด้านเครื่องวัสดุศาสตร์ เทคโนโลยีกึ่งโลหะ 1 ราย เริ่มดำเนินการโครงการนี้เมื่อปี 2556 ระเบียบมหาวิทยาลัยเราเปิดโอกาสให้อาจารย์ไปทำงานเต็มเวลาได้ในสถานประกอบการ ในเวลาสูงสุด 2 ปี โดยทำสัญญากับทางมหาวิทยาลัยครั้งละ 1 ปี แต่อาจจะมีการยืดหยุ่นไม่อยู่เต็มเวลาก็ได้ ขึ้นอยู่กับการคุยกับทางบริษัทหรือผู้ประกอบการ ทางบริษัทอาจจะให้อยู่ที่สถานประกอบการ หรือโรงงานสัปดาห์ละ 2-3 วันก็ได้ ขึ้นอยู่กับการตกลงกับทางบริษัท โดยที่ทางบริษัทหรือผู้ประกอบการจะจ่ายค่าตอบแทนให้ทางมหาวิทยาลัย ตามข้อเสนอของ สวทน. คือ 1.5-5 เท่า ขึ้นอยู่กับการเจรจากับทางบริษัทหรือสถานประกอบการ เงินที่ได้นั้นทางมหาวิทยาลัยจะนำมาจ่ายเป็นเงินเดือนให้อาจารย์คนนั้น และอีกส่วนคือค่าตอบแทนพิเศษที่อาจารย์ไปอยู่ที่บริษัทด้วย ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการเจรจาว่าทางบริษัทเอกชนจะจ่ายเป็นค่าตอบแทนจำนวนเท่าไหร่ การที่บริษัทเอกชนต้องจ่ายค่าตอบแทนจำนวนเท่าไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับขนาดของบริษัท แต่ที่ มอ.ได้ทำโครงการนี้ เราได้ให้บริษัทเอกชนรายนั้นจ่าย 1.5 เท่า ซึ่งเป็นบริษัทขนาดเล็ก แต่ถ้าเป็นบริษัทใหญ่และมีกำลังมากตัวเลขค่าตอบแทนก็จะเพิ่มสูงขึ้นด้วย รูปแบบการเลื่อนไหลของนักวิจัยสู่บริษัทเอกชน ในต่างประเทศทำกันมานานแล้ว โดยเฉพาะประเทศเยอรมัน โครงการนี้ผมเห็นว่าทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์ และไม่ถือว่าเป็นโครงการสมองไหล เพราะเขายังไหลอยู่ในสายงานวิชาการ ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง |
โพสเมื่อ : 02 เม.ย. 57 อ่าน 1406 ครั้ง คำค้นหา : |