ปรับระบบสอบตรงเข้ามหาวิทยาลัยวัน-เวลาเดียวกัน
ปรับระบบสอบตรงเข้ามหาวิทยาลัยวัน-เวลาเดียวกัน
สกอ.-ทปอ.มีมติเปลี่ยนระบบสอบตรงเข้ามหาวิทยาลัยปีการศึกษา 59 ให้จัดสอบช่วงเดียวกัน-ใช้ข้อสอบกลาง ยกเว้นวิชาเฉพาะ หวังลดปัญหาเด็กวิ่งรอก-ลดค่าใช้จ่าย พร้อมให้กลุ่มสถาบันแพทย์เลื่อนสอบ แก้สอบติด สละสิทธิ์คณะอื่น เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ดร.วราภรณ์สีหนาท รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือเรื่องการพัฒนาระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา โดยมี รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานกกอ., ศ.ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ กกอ., ตัวแทนจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) รวมทั้งอธิการบดีและผู้แทนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าร่วมประชุม ดร.วราภรณ์ กล่าวว่า เบื้องต้นที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า มหาวิทยาลัยต่างๆ จะรับตรงโดยวิธีการสอบในช่วงเวลาเดียวกัน และจะจัดสอบในช่วงเวลาที่นักเรียนจบการศึกษาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว โดยใช้ข้อสอบกลางร่วมกัน เพื่อลดปัญหาการวิ่งรอกสอบของนักเรียนและช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการจัดสอบ ซึ่งคาดว่าน่าจะเริ่มจัดสอบได้ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ เพราะนักเรียนจะเรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในเดือนมีนาคม ขณะที่มหาวิทยาลัยเลื่อนเปิดภาคเรียนรับอาเซียนเป็นช่วงเดือนสิงหาคม จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการจัดสอบรับตรงร่วมกัน โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปีการศึกษา 2559 สำหรับข้อสอบกลางที่จะใช้เป็นข้อสอบวิชาสามัญเท่านั้น ส่วนวิชาเฉพาะของแต่ละคณะหรือสาขา ทางมหาวิทยาลัยสามารถจัดสอบเองได้ โดยไม่จำกัดเวลา ซึ่งที่ประชุมได้ขอให้ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก) เป็นตัวกลางหารือกับมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนสาขาด้านศิลปะว่าจะสามารถจัดสอบวิชาเฉพาะร่วมกันได้หรือไม่ รวมถึงสาขาอื่นๆ ที่จำเป็นต้องสอบวิชาเฉพาะ หากจัดสอบร่วมกันได้ก็จะช่วยลดภาระการสอบของเด็กได้มาก ดร.วราภรณ์ กล่าว รองเลขาธิการ กกอ. กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังขอให้ ทปอ.ไปหารือกับกลุ่มสถาบันแพทยศาสตรแห่งประเทศไทย (กสพท.) ให้จัดสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์ และทันตแพทยศาสตร์ ก่อนการจัดสอบอื่นๆ เพราะที่ผ่านมานักเรียนที่สอบติดในคณะอื่น เมื่อรู้สอบติดแพทย์ก็จะสละสิทธิ์คณะอื่น เป็นการกันที่นักเรียนคนอื่น ดังนั้นหาก กสพท.จัดสอบและประกาศผลก่อนทางนักเรียนก็จะได้ตัดสินใจและไม่ต้องสอบหลายที่ อย่างไรก็ตามจากนี้มหาวิทยาลัยต่างๆ ต้องมาหารือร่วมกันในรายละเอียดของการสร้างข้อสอบ เพื่อหาข้อสรุปแจ้งให้นักเรียนทราบต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก |
โพสเมื่อ :
29 พ.ค. 57
อ่าน 1444 ครั้ง คำค้นหา :
|
|