![]() |
เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทวงศึกษาธิการ (ศธ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ได้หารือที่ประชุมถึงปัญหาธรรมาภิบาลของมหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นหลายแห่ง และมีอยู่ 3 แห่งที่เรียกว่าเข้าขั้นวิกฤต คือ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (มอบ.) มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) สุรินทร์ และมหาวิทยาลัยบูรพา (มบ.) ซึ่งยอมรับว่าสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) หาทางออกไม่ได้ จึงเสนอขอให้ใช้อำนาจรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ดำเนินการเพื่อหาทางออก โดย พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ก็แสดงความห่วงใย แต่ไม่แน่ใจขอบเขตอำนาจที่มี เพราะขณะนี้มหาวิทยาลัยมีอิสระในการกำกับดูแลตัวเอง ดังนั้น จึงขอกลับไปดูข้อกฎหมายว่าสามารถดำเนินการอะไรได้มากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ ในส่วนของมหาวิทยาลัยทั้ง 3 แห่ง มีปัญหาในลักษณะที่คล้ายกัน คือระบบการสรรหาอธิการบดีที่มีปัญหา และความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับสภามหาวิทยาลัย ซึ่ง สกอ.ไม่มีอำนาจไปกำกับดูแล แต่หากปล่อยให้ยืดเยื้อต่อไปก็จะกระทบกับการจัดการเรียนการสอน "ขณะนี้ทั้ง 3 แห่งเริ่มมีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อย่าง มบ.มีคณาจารย์ และนิสิตออกมาประท้วงคัดค้านการนั่งรักษาการของอธิการบดี เกิดความขัดแย้งเรื่องกระบวนการสรรหา ขณะที่ มรภ.สุรินทร์ ก็มีปัญหาลักษณะเดียวกัน และอดีตรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ถึง 3 คน เคยใช้อำนาจสั่งการไปแล้วให้ดำเนินการสรรหาอธิการบดีและสภามหาวิทยาลัยใหม่ให้เรียบร้อย แต่จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีการดำเนินการ ส่วน มอบ.มีปัญหาในเรื่องของการฟ้องร้อง ซึ่งต้องรอจนกว่าคดีความจะสิ้นสุดจึงจะสามารถเข้าไปดำเนินการอะไรได้ แต่ทั้งหมดถือเป็นความแตกแยกภายใน หากสภามหาวิทยาลัยที่มีอำนาจสูงสุดในการบริหารจัดการไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ ก็จะลุกลาม และส่งผลต่อคุณภาพการจัดการศึกษา" นพ.กำจรกล่าว
|
โพสเมื่อ : 16 ก.พ. 58 อ่าน 1331 ครั้ง คำค้นหา : |