ผอ.มหิดลฯ หนุนปั้นนักวิทย์ สสวท.คาด ปี 60 เพิ่มเท่าตัว




      

ผอ.มหิดลฯ หนุนปั้นนักวิทย์ สสวท.คาด ปี 60 เพิ่มเท่าตัว

         นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงกรณีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จัดทำโครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน 16 แห่งทั่วประเทศ โดยจะเปิดรับนักเรียน 540 คน เข้าเรียนฟรีจนถึงระดับปริญญาเอก ภายใต้การกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทยว่า สพฐ.ไม่ขัดข้องที่จะจัดทำโครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ของ วท.เพราะจะช่วยส่งเสริมการผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศให้เพิ่มมากขึ้น
          นายกมลกล่าวว่า สพฐ.ก็ส่งเสริมเรื่องนี้มานานแล้วผ่านโครงการต่างๆ เช่น โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ที่จัดตั้งให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ของไทย โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย 12 แห่ง เน้นการเรียนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ที่ผ่านมานักเรียนที่เรียนจบจากโรงเรียนเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็เรียนต่อสายวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะโรงเรียน มหิดลฯเรียนต่อสายวิทยาศาสตร์ทั้งหมด แต่บางส่วนอาจจะไปสอบเข้าแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ ก็ถือว่าอยู่ในสายวิทยาศาสตร์
          คาดว่าอีก 3- 5 ปีจะมีเด็กกลุ่มนี้จบออกมาสู่สังคมจำนวนมาก เนื่องจากส่วนหนึ่งกำลังเรียนต่อระดับปริญญาตรี โทและเอก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนผู้ที่จบมาก่อนหน้านี้ออกไปทำงานใน 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ เป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย ทำงานภาควิทยาศาสตร์ในหน่วยงานศูนย์วิทยาศาสตร์ หน่วยงานวิจัยของรัฐ และทำงานภาคเอกชน
          เลขาธิการ กพฐ.กล่าวว่า โรงเรียนในสังกัด สพฐ.ไม่ได้มีปัญหาผู้ที่จะมาสอนด้านวิทยาศาสตร์เพราะการเรียนการสอนจะเป็นการเรียนระดับพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์มากกว่า และปกติทางโรงเรียนสามารถเชิญนักวิทยาศาสตร์มาสอนให้ความรู้เพิ่มเติมแก่นักเรียนได้อยู่แล้ว แต่หากต้องการจะมาเป็นครูก็ยกเว้นออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพชั่วคราวให้สอนได้ 2 ปีตามระเบียบของคุรุสภา
          นางยุวดี นาคะผดุงรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ กล่าวว่าเห็นด้วยกับโครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ของ วท.ที่จะช่วยกันผลิตนักวิทยาศาสตร์ออกมา คิดว่าไม่ได้ซ้ำซ้อนอะไรกับการผลิตนักวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนมหิดลฯ และไม่ใช่ว่าหน่วยงานไหนอยู่ทำแล้วหน่วยงานอื่นไม่ควรทำอีก เนื่องจากจำนวนนักวิทยาศาสตร์ยังเป็นที่ต้องการอีกจำนวนมาก ส่วนที่ห่วงกันว่าปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ไม่สนใจอยากเรียนเป็นนักวิทยาศาสตร์ ตนไม่ได้กังวลอะไรเพราะนักเรียนของโรงเรียนมหิดลฯจะออกไปเป็นแพทย์ วิศวกร และนักวิทยาศาสตร์อยู่แล้วด้วย
          โครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์น่าจะทำให้เด็กและเยาวชนไทยเห็นว่าการเป็นนักวิทยาศาสตร์เป็นอาชีพที่ดีไม่แพ้แพทย์ และวิศวกร เพราะทุกวันนี้ส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจว่าเมื่อจบด้านวิทยาศาสตร์แล้วจะมีงานทำและมีตำแหน่งงานรองรับทั้งในภาครัฐและเอกชนหรือไม่ รวมถึงมีความก้าวหน้าและความมั่นคงในอาชีพมากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้หากต้องการเพิ่มนักวิทยาศาสตร์อย่างจริงจังทุกฝ่ายต้องช่วยกันส่งเสริมและสนับสนุนให้คนเก่งและคนที่สนใจด้านวิทยาศาสตร์ มีความสนใจอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้น นางยุวดีกล่าว
          ด้านนางพรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวว่า โครงการห้องวิทยาศาสตร์น่าจะทำมาประมาณ 10 ปีแล้วจะเป็นทุนเรียนดีให้เรียนด้านวิทยาศาสตร์จะแตกต่างจากโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.)ของ สสวท.ที่ทำมาตั้งแต่ปี 2527 ที่ให้ทุนเรียนเด็กหัวกะทิมาเรียนตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายไปจนถึงปริญญาเอก โดยระดับปริญญาตรีจะเน้นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ เรียน ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยาที่จะมีความลึกซึ้งและเข้มข้นมากทางด้านวิทยาศาสตร์ เมื่อถึงระดับปริญญาโท และปริญญาเอกสามารถเลือกเรียนวิทยาศาสตร์ประยุกต์สาขาต่างๆ ได้
          นางพรพรรณกล่าวว่า ขณะนี้มีผู้จบการศึกษาแล้วกว่า 800 คนและได้เข้าไปเป็นเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย เป็นนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์และทำงานในหน่วยงานรัฐ ทั้งนี้ เมื่อจบโครงการนี้ในปี 2560 คาดว่าจะผลิตนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยออกมาได้ประมาณ 3,000 คน อย่างไรก็ตาม นอกจากโครงการดังกล่าวแล้ว สสวท.ยังให้ทุนตัวแทนนักเรียนไทยที่ไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการได้เรียนต่อทางด้านวิทยาศาสตร์ไปจนถึงระดับปริญญาเอกด้วย
          การเรียนวิทยาศาสตร์อาจทำให้เด็กไม่สนใจอยากจะเรียน ทาง สสวท.ก็เข้ามาส่งเสริมเรื่องนี้โดยเน้นให้การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน การเรียนในห้องเรียนต้องให้เด็กลงมือทดลองปฏิบัติจะได้ไม่เบื่อ การฝึกบูรณาการแก้ปัญหา ฝึกคิดวิเคราะห์ ตอนนี้ทำโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยกระตุ้นส่งเสริมด้านวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ระดับอนุบาล โดยให้เด็กทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การฝึกสังเกต เป็นต้น หากฐานข้างล่างสนใจวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เล็กพอโตขึ้นมาก็จะสนใจเรียนเอง ผอ.สสวท.กล่าว และว่า สสวท.มีความคาดหวังว่าจะผลิตนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยให้ได้ในสัดส่วน 15 คนต่อประชากรหมื่นคน จากปัจจุบันอยู่ในสัดส่วน 7 คนเท่านั้น ถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ เป็นต้น

          --มติชน ฉบับวันที่ 19 ส.ค. 2557 (กรอบบ่าย)--


โพสเมื่อ : 18 ส.ค. 57   อ่าน 1422 ครั้ง      คำค้นหา :