คอลัมน์ เลาะเลียบคลองผดุงฯ
โดย ตุลย์ ณ ราชดำเนิน [email protected]
จากโซเชี่ยลอิงค์ (Zocial inc) บริษัทด้านการวิเคราะห์ข้อมูล
ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสถิติและพฤติกรรมการใช้งานโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กของ
ไทย อย่างที่น่าศึกษาว่า ใช้เฟซบุ๊กมากถึง 28 ล้านราย เป็นอันดับ 9 ของโลก
คิดเป็น 42% ของประชากรทั้งประเทศเท่ากับประเทศเยอรมนี
หากเจาะไปที่ประเทศกลุ่มอาเซียน ปรากฏว่า ไทยมีผู้ใช้มากเป็นอันดับ 3
ของอาเซียน รองจาก ที่ 1 อินโดนีเซีย และที่ 2 ฟิลิปปินส์ และ
พบว่ากรุงเทพฯ มีอัตราการใช้งานเฟซบุ๊กสูงสุด 15.4 ล้านคน
ส่วนการใช้ทวิตเตอร์ พบคนไทยทวีต 250,000 รายต่อวัน มากเป็นอันดับ 17
ของโลก 4.5 ล้านราย ซึ่งผู้ใช้ส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยเรียน โดยเด็กชอบทวีต
ผู้ใหญ่ชอบอ่าน เฉพาะช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ วันหยุด
หรือช่วงปิดเทอมจะมีปริมาณทวีตเพิ่มขึ้น
ศึกษาถึงพฤติกรรมคนใช้อินสตาแกรมในไทย ในช่วงระหว่างปี 2012-2013
คนไทยใช้งานสูงถึง 546% นับว่าเป็นโซเชี่ยลมีเดียที่เติบโตสูงที่สุด
เมื่อเทียบกับตัวอื่นๆ โดยในปี 2013 ที่ผ่านมา คนไทยโพสต์ภาพขึ้นมากถึง
36,443,398 ภาพ เป็นวิดีโอถึง 1,370,272 เรื่อง ที่เหลือเป็นรูปภาพ
หากจะเรียงลำดับการใช้โซเชี่ยลมีเดียของคนไทย
พบว่าใช้เฟซบุ๊กในทุกกิจกรรมมากถึง 97% ใช้ไลน์ 84% อินสตาแกรม 56%
ทวิตเตอร์ 30% และใช้ทั้งเฟซบุ๊ก, อินสตา แกรม 24%
และนี่คือข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมคนไทยในการใช้งานโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กต่างๆ
ที่เปิดเผยในงาน ไทยแลนด์ โซเชี่ยล อวอร์ดส์ 2014 เมื่อเร็วๆ นี้
เป็นข้อมูลที่กระทรวงศึกษาฯ และหน่วยงานควรนำไปใช้ประโยชน์
นอกจากนี้ยังพบพฤติกรรมคนไทยในการใช้งานอินเตอร์เน็ตแทบจะทุกวัน ก็คือ
การใช้งานบนเครือข่ายสังคมออนไลน์
จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวันไปแล้ว กระทั่งก่อนนอน
ก็ยังเช็กโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กอยู่ดี
ล่าสุดโครงการศึกษาวิจัยนานาชาติการเรียนรู้คอมพิวเตอร์และสารสนเทศ (ICILS)
ทำหน้าที่ประเมินผลด้านการศึกษาเกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์และสารสนเทศ
ของนักเรียน ม.2 ใน 20 ประเทศ พบว่าคะแนนเฉลี่ยทุกประเทศอยู่ในระดับสูงกว่า
500-553 ต่ำสุดในกลุ่มนี้ คือ ประเทศชิลี 487 คะแนน
ส่วนไทยได้ 373 คะแนนรองโหล่เหนือประเทศตุรกีที่ได้ 361 คะแนน
ที่มา ข่าวสดออนไลน์ วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557