ห่วงคุณภาพการศึกษาไทยถดถอย เวิลด์อีโคโนมิกฯจี้เดินหน้าปฏิรูป-พัฒนา3ด้าน



น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ นักวิชาการสำนักงาน ส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวถึงผลการจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันนานาชาติ (Global Competiveness Index : GCI) ฉบับล่าสุดปี 2557 โดยเวิลด์อีโคโนมิกฟอรั่ม (World Economic Forum : WEF) เผยแพร่ความสามารถการแข่งขันของไทย เปรียบเทียบกับนานาชาติในวันที่ 3 ก.ย. ที่ผ่านมา พบว่าไทยไต่อันดับขึ้น 6 อันดับ จากปี"56 อยู่ที่อันดับ 37 จาก 148 ประเทศ เป็นอันดับที่ 31 จาก 144 ประเทศในปีนี้ ขณะที่มาเลเซียเข้าสู่อันดับรวมที่ 20 เป็นครั้งแรก ส่วนฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ก็ไต่อันดับสูงขึ้น โดย WEF ใช้เกณฑ์ 3 หมวด คือ 1.ปัจจัยพื้นฐาน อาทิ สถาบันด้านเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน 2.ปัจจัยยกระดับประสิทธิภาพ อาทิ การศึกษา ขั้นสูงฯ และ 3.ปัจจัยนวัตกรรมและศักยภาพทางธุรกิจ 



น.ส.ธันว์ธิดากล่าวต่อว่า WEF ประเมินความสามารถทางการแข่งขันของไทยอยู่ในระดับกลาง โดยมีคะแนนค่อนข้างดีด้านสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค และการพัฒนาทางการเงิน สิ่งที่น่าวิตกคือคุณภาพการศึกษาไทยอยู่ที่ 87 ซึ่งถดถอย 9 อันดับจากปี"56 โดยยังวิเคราะห์เป็นปัญหาต่อการเพิ่มขีดความสามารถของไทย 8 อันดับ ดังนี้ 1.ปัญหาคอร์รัปชั่น 2.ความไม่มั่นคงทางการเมือง 3.ระบบราชการ 4.ความไม่ต่อเนื่องทางนโยบาย 5.ขาดความสามารถเชิงนวัตกรรม 6.ขาดระบบเชื่อมโครงสร้างพื้นฐาน 7.ขาดคุณภาพการศึกษาแรงงาน และ 8.ขาดจริยธรรมการทำงานแรงงาน



"เมื่อดูอันดับการศึกษาไทยเทียบกับปี"56 พบว่า การเข้าเรียนทุกระดับดีขึ้น แต่ด้านคุณภาพการศึกษาทุกระดับ อันดับไทยถดถอย โดยคุณภาพระบบการศึกษาและคุณภาพประถมศึกษาถดถอยอยู่ที่ 9 และ 4 ซึ่ง WEF ย้ำว่าไทยต้องเร่งพัฒนา เมื่อเทียบกับกลุ่มอาเซียน 9 ประเทศพบว่า ไทยต้องรีบพัฒนา 3 ข้อ คือ คุณภาพประถมศึกษา คุณภาพการศึกษา และคุณภาพการจัดการศึกษาด้านบริหารธุรกิจ ทั้งนี้ วิธีการได้มาของข้อมูล WEF จะให้น้ำหนักกับการสำรวจความคิดเห็นและการให้คะแนนของผู้ประกอบการในธุรกิจ ถึง 2 ใน 3 ส่วน และอีก 1 ส่วนมาจากข้อมูลเปรียบเทียบเชิงสถิติขององค์การระหว่างประเทศ" น.ส.ธันว์ธิดากล่าว

 

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์ วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2557


โพสเมื่อ : 10 ก.ย. 57   อ่าน 1564 ครั้ง      คำค้นหา :