![]() |
3 สมาคมการศึกษาเสนอแนวทางปฏิรูป พัฒนาคุณภาพผู้เรียนครอบคลุมทุกด้าน นายณรงค์ แผ้วพลสง นายกสมาคมผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงแนวทางการปฏิรูปการศึกษาระยะที่ 2 ว่า ปัจจุบัน สังคมมองว่าปัญหาทุกเรื่องที่เกิดขึ้นมีต้นเหตุมาจากการศึกษา โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ที่ไม่สามารถวางรากฐานสร้างประชากรให้เป็นประชากรที่มีคุณภาพให้สอดคล้องเหมาะสมกับความต้องการพัฒนาประเทศได้ แม้จะมีเด็กและเยาวชนไทยหลายคนที่สร้างชื่อเสียงในด้านวิชาการ ทักษะอาชีพ และเรื่องต่างๆ แต่ต้องยอมรับว่าในส่วนที่เป็นปัญหาของการบริหารจัดการศึกษาเองก็ยังมีอยู่มากซึ่งได้มีความพยายามในการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมในแต่ละยุคสมัยมาโดยตลอด ในฐานะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน สมาคมผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย สมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทยและสมาคมศึกษานิเทศก์แห่งประเทศไทย มีความเห็นว่าในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจำเป็นต้องมีการกระจายอำนาจลงสู่พื้นที่ปฏิบัติการอย่างเป็นระบบ และต้องนำเทคโนโลยีมาบูรณาการใช้ในการจัดการศึกษาให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้นทั้ง 3 สมาคมจึงได้ร่วมกันพิเคราะห์กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบบบริหารทรัพยากรบุคคล เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันในการจัดทำรายละเอียดการพัฒนากฎหมายและระบบบริหารทรัพยากรบุคคลเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ระยะที่ 2 และมีข้อเสนอให้คงโครงสร้างหลัก สพฐ. แต่ปรับปรุงการบริหารภายในโดยให้เพิ่มสำนักนิเทศติดตามฯ และสำนักผู้ตรวจราชการ สพฐ. อีก 2 หน่วยงาน ในส่วนจำนวนเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้การจัดการศึกษามีคุณภาพทัดเทียมกันทุกพื้นที่และครอบคลุมเด็กทุกกลุ่มให้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่รัฐจัดให้ได้อย่างเสมอภาคได้เสนอปรับปรุงจำนวนเขตพื้นที่การศึกษาให้มีเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) 200 เขต เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 78 เขต และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพิเศษ จำนวน12 เขต ให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลเช่นเดียวกับสถานศึกษาที่เป็นโรงเรียน ในด้านการบริหารงานบุคคลเสนอให้มีคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำ สพฐ. (อ.ก.ค.ศ.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) และปรับเปลี่ยนโครงสร้างใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ให้ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาเป็นประธาน และ ผอ.กลุ่มบริหารงานบุคคลเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ โดยตำแหน่งพร้อมกับให้เปลี่ยนแปลงประเภทของข้าราชการประเภทผู้บริหาร โดยเสนอให้ เลขาธิการ กพฐ. รองเลขาธิการ กพฐ. ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. และผู้ตรวจราชการ สพฐ. เป็นผู้บริการการศึกษาตามกฎหมาย เพื่อให้เป็นโครงสร้างที่เอื้อต่อการบริหารจัดการศึกษา ระบบการบริหารบุคคลที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม สร้างขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานทุกระดับโดยสมาคมได้ยื่นข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการศึกษาดังกล่าวนี้ต่อเลขาธิการกพฐ. คสช. และฝ่ายสังคมจิตวิทยา คสช. ไปแล้ว และจะได้ยื่นต่อองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาในลำดับต่อไป
ที่มา: http://www.naewna.com |
โพสเมื่อ : 01 ส.ค. 57 อ่าน 1404 ครั้ง คำค้นหา : |