ข้อพึงระวังของผู้บังคับบัญชาในการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง



ข้อพึงระวังของผู้บังคับบัญชาในการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง

สวัสดีค่ะ เพื่อนข้าราชการครูและ บุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน วันนี้ดิฉันขอนำเสนอเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนเริ่มต้นของกระบวนการสอบสวนทางวินัยที่มีความสำคัญ เป็นอย่างยิ่ง เพราะหากผู้บังคับบัญชาสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนดำเนินการไม่ถูกต้องตาม กฎหมาย จะมีผลทางกฎหมายตามมาอีกมากมาย ดิฉันจึงอยากนำเรื่องนี้มาพูดคุยกันเพื่อเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติงานของผู้ ที่เกี่ยวข้องค่ะ

เมื่อกรณีมีมูลว่าข้าราชากรครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ใดกระทำผิดวินัย อย่างร้ายแรง กฎหมายกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจตามมาตร 53 ของผู้ถูกกล่าวหา เป็นผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ต้องดำเนินการตามนัยข้อ 3 ของกฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ.2550 กล่าวคือ คณะกรรมการสอบสวนต้องประกอบด้วย ข้าราชการรูและบุคลากรทางการศึกษา หรือข้าราชการพลเรือนอย่างน้อยสามคน

ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้มีวิทยฐานะ ประธานกรรมการสอบสวนต้องดำรงตำแหน่งและมีวิทยฐานะเทียบได้ไม่ต่ำกว่าผู้ ถูกกล่าวหา และแม้ภายหลังประธานกรรมการจะดำรงตำแหน่งหรือมีวิทยฐานะต่ำกว่าหรือเทียบได้ ต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหา ก็ไม่กระทบถึงการได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ และกรรมการคนใดคนหนึ่งต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้

1) เป็นผู้ได้รับปริญญาทางกฎหมาย
2) เป็นนิติกร
3) เป็นผู้ผ่านการฝึกอบรมการดำเนินการทางวินัย หรือ
4) เป็นผู้มีประสบการณ์ในการสอบสวน

หากคณะกรรมการสอบสวนมิได้มีองค์ประกอบและคุณสมบัติดังกล่าว ถือว่าการสอบสวนทั้งหมดเสียไปตามข้อ 43 ของกฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ.2550 แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิ์ที่ผู้บังคับบัญชาจะดำเนินการใหม่ให้ชอบด้วยกฎหมาย ต่อไป

อย่างไรก็ดี มีข้อยกเว้นกรณีการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงเป็นกรณีความผิดที่ปรากฏชัด แจ้งตามที่กำหนดในกฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วยกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง พ.ศ.2549 กรณีนี้ผู้บังคับบัญชาจะดำเนินการทางวินัยโดยไม่สอบสวนก็ได้

นอกจากนี้ ในการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงมีข้อพึงระวังอีกประการหนึ่ง คือ แม้กฎหมายจะมิได้ห้ามตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงมาเป็นคณะกรรมการสอบสวน วินัยอย่างร้ายแรงในกรณีเดียวกันนั้นก็ตาม หากแต่ปัจจุบันมีแนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.600/2554 ไว้ชัดเจน สรุปว่า การตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงสองในสามคนมาเป็นกรรมการสอบสวนวินัยอย่าง ร้ายแรง โดยเป็นประธานกรรมการสอบสวนคนหนึ่งและอีกคนเป็นกรรมการสอบสวนและเลขานุการ อีก ย่อมเป็นเหตุให้มีสภาพร้ายแรงทำให้เกิดความไม่เป็นกลางตามนัยมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติราชการทางการปกครอง พ.ศ.2539 ผลการสอบสวนจึงไม่ชอบด้วยกฏหมาย ทำให้คำสั่งลงโทษไม่ชอบด้วยกฏหมายไปด้วย จึงพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ดังนั้น ผู้บังคับบัญชาเมื่อจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้่ายแรง จึงพึงระมัดระวังและหลีกเลี่ยงเพื่อมิให้เกิดการยกขึ้นกล่าวอ้างและฟ้องร้อง คดีดังกล่าว

ท้ายสุดนี้ ดิฉันหวังว่าเรื่องที่นำเสนอในวันนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านที่เป็นผู้บังคับบัญชาในอันที่จะได้ดำเนินการแต่งตั้ง คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงให้เป็นไปโดยถูกต้องตามกฏหมายนะคะ แล้วพบกันใหม่วันจันทร์หน้าค่ะ

ศิริพร กิจเกี้อกูล
เลขาธิการ ก.ค.ศ.




ที่มา มติชน วันที่ 5 มกราคม 2558

โพสเมื่อ : 06 ม.ค. 58   อ่าน 2023 ครั้ง      คำค้นหา :