เผยโฉม18 สปช.การศึกษา ลุ้น"ปรับ-ไม่ปรับ"โครงสร้างศธ.



เผยโฉม18สปช.การศึกษา ลุ้น"ปรับ-ไม่ปรับ"โครงสร้างศธ.

คอลัมน์ ชีพจรครู

 


 

"ชีพจรครู" ฉบับนี้มีข่าวคราวสำคัญๆ ในแวดวงการศึกษาไทยมาบอกกล่าวกับเพื่อนๆ ครูอยู่หลายเรื่อง เรื่องแรกคือ ขณะนี้เราได้ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทั้ง 11 ด้านแล้ว ภายหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิก สปช.ทั้ง 250 คน โดยแบ่งตามความเชี่ยวชาญ

ได้แก่ ด้านการเมือง ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านการศึกษา ด้านการปกครองท้องถิ่น ด้านเศรษฐกิจ ด้านพลังงาน ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม ด้านสื่อสารมวลชน และด้านอื่นๆ

สำหรับ สปช.ด้านการศึกษา มี 18 คน ได้แก่ นายอมรวิชช์ นาครทรรพ นายศักรินทร์ ภูมิรัตน พล.ท.พอพล มณีรินทร์ นายกมล รอดคล้าย นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ นายเขมทัต สุคนธสิงห์ นายณรงค์ วรงค์เกรียงไกร นางประภาภัทร นิยม นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา นายชิงชัย หาญเจนลักษณ์ นายมีชัย วีระไวทยะ นางทิชา ณ นคร พล.อ.วุฒินันท์ ลีลายุทธ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร นางชัชนาถ เทพธรานนท์ นายปิยะวัติ บุญ-หลง นายณรงค์ พุทธิชีวิน และนายสมเกียรติ ชอบผล

ซึ่งแต่ละคนล้วนคลุกคลีอยู่ ในแวดวงการศึกษามายาวนาน ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม และดูจากประวัติของแต่ละคนแล้วก็น่าจะรับประกันได้ระดับหนึ่งว่า อนาคต "การปฏิรูปการศึกษา" พอจะมีความหวังบ้าง!!

เบื้องต้นบรรดา สปช.ด้านการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นนางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก นายอมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายสมเกียรติ ชอบผล อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายณรงค์ พุทธิชีวิน อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี นายศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ต่างเห็นพ้องกันว่าต้องปฏิรูปการผลิตครู ตั้งแต่โรงเรียนฝึกหัดครูทั้งหลาย เพื่อให้ได้ครูรุ่นใหม่ที่มีความรู้รอบตัว เท่าทันโลก ปฏิรูปหลักสูตร ให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์และรับมือกับปัญหาเป็น เน้นการจัดการศึกษาเพื่อชีวิต จบแล้วมีงานทำ ปฏิรูปการวัดประเมินผล เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริตให้กับเด็กๆ ที่เป็นอนาคตของชาติ

นอกจากนี้ ยังมีอีกเรื่องที่กลายเป็น ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ในแวดวงการศึกษาขณะนี้คือนโยบายที่ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการ ศธ.มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) และ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไปศึกษาว่าควรจะ "แยก" ออกจาก ศธ.ในปัจจุบันหรือไม่ เนื่องจากโครงสร้างกระทรวงปัจจุบันใหญ่และอุ้ยอ้ายเกินไป ทำให้การบริหารจัดการไม่คล่องตัว โดยให้ สอศ.ศึกษาว่าควรแยกตัวไปจัดตั้งเป็นอีกกระทรวงหรือไม่ และให้ สกอ.ไปศึกษาว่าให้แยกออกไปตั้งเป็นทบวงหรือกระทรวง ขณะที่ สกศ.ให้ศึกษาว่าควรจะกลับไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือไม่ โดยให้เวลา 1 เดือน

ซึ่งประเด็นนี้ มีผู้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยกับการปรับโครงสร้าง ศธ.ใหม่ และฝ่ายที่คัดค้าน เพราะมองว่าเรื่องเฉพาะหน้าที่ต้องเร่งดำเนินการคือ การปฏิรูปคุณภาพการศึกษาในด้านต่างๆ ทั้งครู หลักสูตร ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนเห็นว่าควรปฏิรูปโครงสร้าง ศธ.ไปพร้อมๆ กันด้วย เพราะหากปฏิรูปคุณภาพการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่โครงสร้าง ศธ.ไม่รองรับ ต่อให้ปฏิรูปการผลิตครูให้ดีหรือปฏิรูปหลักสูตรให้ดีขนาดไหน แต่โครงสร้างของหน่วยงานไม่ดีก็จะไม่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษา เท่าที่ควร...

ก็ต้องติดตามกันว่าการปรับโครงสร้างศธ.ครั้งนี้จะลงเอยในรูปแบบใด!!

 

 

 

ที่มา มติชนรายวัน วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 37 ฉบับที่ 13373


โพสเมื่อ : 23 ต.ค. 57   อ่าน 1576 ครั้ง      คำค้นหา :