มพ.เปิดศูนย์เรียนรู้การสกัดน้ำมันสมุนไพรแห่งแรกหวังเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน




      

มพ.เปิดศูนย์เรียนรู้การสกัดน้ำมันสมุนไพรแห่งแรกหวังเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน

          ศ.พิเศษ ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา เปิดเผยว่า คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา มีกำหนดเปิดศูนย์การเรียนรู้ด้านการสกัดน้ำมันสมุนไพรแห่งแรก ในต้นเดือนกรกฎาคมนี้ ณ บ้านไร่ชาวดิน อ.เมือง จ.พะเยา โดยตั้งเป้าให้เป็นพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการสกัดน้ำมันสมุนไพร อาทิ ตะไคร้หอม มะแกว่น ฯลฯ แก่ประชาชนที่สนใจรวมทั้งเป็นสถานที่สำหรับฝึกปฏิบัติภาคสนามของนิสิตคณะเภสัชศาสตร์อีกด้วย ทั้งนี้ การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าวยังสอดคล้องกับประเด็นยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ทั้งในการด้านการเรียนการสอน โดยร่วมมือกับภาคเอกชนและชุมชนในรูปแบบต่างๆ ด้านการวิจัย ส่งเสริมการวิจัยพัฒนาเพื่อสร้างฐานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมุ่งเน้นส่งเสริมการวิจัยที่นำไปสู่การปฏิบัติได้จริง เป็นการวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน หรือชุมชนต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาชุมชนและสิ่งแวดล้อม ด้านการให้บริการทางด้านวิชาการ โดยสนับสนุนให้บริการแก่ชุมชนในรูปแบบต่างๆ อันจะสอดคล้องกับปณิธานของมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการใช้ ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน
          รศ.ดร.บุษบง จำเริญดารารัศมี ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวเพิ่มเติมว่า เบื้องต้นจะสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชสมุนไพร 2 ชนิด คือ ตะไคร้หอม และ มะแขว่น ภายใต้โครงการส่งเสริมการใช้สมุนไพรเพื่อป้องกันยุง โดยน้ำมันสกัดจากตะไคร้หอมนำมาใช้ในการไล่ยุง ส่วนน้ำมันสกัดจากมะแขว่นนำมาใช้ทดแทนสารเคมีเพื่อกำจัดยุงและลูกน้ำที่เป็นต้นเหตุของการระบาดของไข้เลือดออก ซึ่งพบว่ามีการระบาดมากที่สุดใน 3 อำเภอของจังหวัดพะเยา คือ อ.เมือง อ.ดอกคำใต้ และ อ.เชียงคำ สำหรับโครงการการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ มีเป้าหมายโครงการอย่างน้อย 5 ปี คณะเภสัชศาสตร์จะเป็นผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ ให้ความรู้เรื่องการสกัดสมุนไพรจากพืชชนิดต่างๆ เสนอแนะแหล่งรับซื้อน้ำมันเพื่อสร้างรายได้ในการดำเนินการ พัฒนาศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเภสัชภัณฑ์เพื่อจำหน่าย พัฒนาเป็นสถานประกอบการที่เลี้ยงตนเองได้และเป็นสถานปฏิบัติการสำหรับนิสิตต่อไป โดยในเบื้องต้นได้มอบหมายให้นิสิตคณะเภสัชศาสตร์ทำการค้นคว้าเรื่องสมุนไพรหลายชนิด โดยเฉพาะสมุนไพรไล่ยุงเพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ปัญหาไข้เลือดออกระบาดในจังหวัดและเพื่อเป็นแหล่งวิชาการที่ถูกต้อง
          รศ.ดร.บุษบง กล่าวในตอนท้ายว่า ตั้งเป้าจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การสกัดน้ำมันสมุนไพรให้ได้ 2-3 ศูนย์ ภายในระยะดำเนินการ โดยจะดึงหน่วยงานระดับท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็น องค์การบริหารส่วนตำบล หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด เข้ามาร่วมสนับสนุนเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชนในระยะยาวต่อไป

        

 

  ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง


โพสเมื่อ : 18 มิ.ย. 57   อ่าน 1870 ครั้ง      คำค้นหา :