![]() |
ความจริงจากผู้ตรวจการแผ่นดิน เลาะเลียบคลองผดุงฯ
ซูเปอร์บอร์ดของสปช.นี้ จะเป็นคนละชุดกับซูเปอร์บอร์ดที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานนั่งหัวโต๊ะ และได้กำหนดเป้าหมายการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา 6 ประการ คือ เด็กอ่านออก เขียนได้ ส่งเสริมวิชาชีพ เน้นการวิจัย การผลิตครูที่มีความเข้มข้น เด็กไทยมีความสามารถด้านภาษาอังกฤษ
จัดทำแผนการศึกษา ระยะ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2015-2020 เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ต้องเป็นรูปธรรม ในระยะสั้นทำทันทีภายใน 3 เดือน และระยะยาว 5 ปี คาดว่าภายใน 1 ปี น่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลง
ขณะที่ซูเปอร์บอร์ดของสปช. ยังก้าวไม่พ้นงานรูทีน เชิงธุรการ ประกันโอกาสเข้าถึงการศึกษาของคนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียม การกระจายอำนาจสู่เขตพื้นที่และสถานศึกษา ปรับโครงสร้าง ลดกำลังคน ปรับกลไกทางกฎหมาย เดินสายรับฟังความคิดเห็น ทำประชาพิจารณ์ จัดประชุม สัมมนา
ไม่เว้นการยื่นมือไปถึงเรื่องพิจารณาแต่งตั้งบุคคลนั่งเก้าอี้ ในตำแหน่งสำคัญ เช่น ปลัด อธิบดี เลขาธิการ หรือข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการระดับ 10 ขึ้นไป เพื่อเสนอให้รมว.ศธ.ลงนาม อนุมัติ
ขณะที่เสียงจากผู้ตรวจการแผ่นดินท่านหนึ่ง ออกมาเปิดข้อมูลและข้อเท็จจริงอันเป็นปัญหาใหญ่ ที่พบในการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ ชึ่งชี้ให้เห็นถึงงบประมาณที่ได้สูงแต่ประสิทธิภาพการใช้เงินต่ำ บุคลากรมีปริมาณมากกว่างาน กระบวนการทำงานล่าช้า คุณภาพครูยังไม่เกิด คุณภาพนักเรียนลดลง
สถานศึกษาหลายแห่งยังขาดแคลนบุคลากรครูและสื่อการสอน ครูและผู้บริหารละทิ้งโรงเรียน การบริหารงานบุคคลไม่ยุติธรรม ไม่โปร่งใส การศึกษานอกระบบยังไม่ทำให้ผู้จบมีคุณภาพ
โยงถึงระดับอาชีวศึกษา ผู้เรียนหลายสาขายังขาดแคลน ขาดการฝึกงานจริงในสถานประกอบการที่มีเครื่องมือทันสมัย มีแนวโน้มอยากปรับเป็นอุดมศึกษา ปิดท้ายด้วยอุดมศึกษา เปิดหลักสูตรมากมายที่ไม่สนองต่อการพัฒนาประเทศ
ทั้งหมดนี้ซูเปอร์บอร์ดของ สปช.น่าออกมาขานรับนำไปใช้ประโยชน์ แต่กลับเงียบสนิท ผิดหวังจริงๆ
ที่มา ข่าวสดออนไลน์ วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2558 |
โพสเมื่อ : 24 มี.ค. 58 อ่าน 1398 ครั้ง คำค้นหา : |