"ครูภูธร" ขอพูด ซุปเปอร์บอร์ด-ปฏิรูปการศึกษา
จากกรณี
ที่จะมีการปรับโครงสร้างใหญ่กระทรวงศึกษาธิการ
โดยจะให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ไปอยู่สำนักนายกรัฐมนตรี
แล้วใช้ชื่อใหม่ว่า "สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์"
หรือสภาการศึกษาเดิม
อีกทั้งมีแนวคิดตั้งคณะบุคคลหรือซุปเปอร์บอร์ดขึ้นมาพิจารณาควบคุมการแต่ง
ตั้งโยกย้ายข้าราชการนั้น
ผู้บริหารการศึกษาและข้าราชการครูมีความเห็นอย่างไรกับเรื่องดังกล่าว
วิวัฒน์ รุ้งแก้ว ครูโรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย ในฐานะกรรมการสภาการศึกษา
บอกว่า โครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการทุกวันนี้ก็ดีอยู่แล้ว แต่ปัญหาจะอยู่ที่
ผู้ปฏิบัติมากกว่า และควรจะปฏิรูปหลักสูตรมากกว่า
ขณะนี้ทุกคนพูดถึงแต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้มีอำนาจเพิ่มขึ้น
แต่การปฏิรูปไม่ได้พูดถึง
ธีรวัฒน์ คำศรี รอง ผอ.สพป.ศรีสะเกษ เขต 4 ให้ความเห็นว่า
การปรับโครงสร้างต้องตอบโจทย์ได้ว่าใครได้ประโยชน์
บุคลากรในสังกัดหรือนักเรียน
ควรเพิ่มส่วนที่จะช่วยให้นักเรียนมีคุณภาพสูงขึ้น เช่น
มีศูนย์วิจัยการจัดการเรียนการสอนประจำจังหวัด ทำหน้าที่วิจัย
สนับสนุนการวิจัยการเรียนการสอนของครู ให้ครูรู้ตัวตน รู้จักนักเรียน
ช่วยพัฒนานักเรียนอย่างจริงจัง การศึกษาน่าจะมีคุณภาพมากขึ้น
วีระศักดิ์ ปัตตาลาโพธิ์ ผอ.โรงเรียนบ้านดง ต.ปะหลาน อ.พยัคฆภูมิพิสัย
จ.มหาสารคาม เห็นว่า
การปฏิรูปการศึกษาควรเน้นปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นอันดับแรก
มากกว่าที่จะปรับโครงสร้างระดับกรมหรือกระทรวง
รองลงมาคือควรปฏิรูปกระบวนการผลิตครูที่มีจิตสำนึกของความเป็นครู
ดร.ประเสริฐ กำธรเจริญ ผอ.วิทยาลัยสารพัดช่างมหาสารคาม บอกว่า
ที่ผ่านมาเน้นปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานโดยขาดการศึกษาแนวปฏิบัติที่
ชัดเจน ทำให้ปฏิรูปการศึกษาไม่สำเร็จ ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต่ำ
การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและการกระจายอำนาจการบริหารจัดการสู่สถานศึกษา
การจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนตามจำนวนผู้เรียนจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข
ควบคู่กับการสร้างคุณภาพ
โดยจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีแบบมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย
ดร.ทองพูน ใจประเสริฐ ผอ.โรงเรียนอรัญประเทศ จ.สระแก้ว เห็นว่า
ปัจจุบันการปฏิรูปการศึกษาไทยประสบความล้มเหลว อาจมาจากผู้บริหารสถานศึกษา
ขาดวิสัยทัศน์ ขาดทักษะในการจัดการศึกษา
เพราะการเข้าสู่ผู้บริหารสถานศึกษามาจากการสอบ
แต่หลายคนยังไม่มีประสบการณ์ในการบริหารสถานศึกษา
แตกต่างจากอดีตสมัยที่เป็นกรมสามัญศึกษา
ผู้ที่จะมาเป็นผู้บริหารสถานศึกษาได้ต้องผ่านการประเมิน
มีทักษะการบริหารมาแล้วนับสิบปี
รวมทั้งผู้บริหารการศึกษาที่นักการเมืองแทรกแซงแต่งตั้ง
มีการเล่นพรรคเล่นพวก
มนวิภา เตโช ครูชำนาญการพิเศษวิชาวิทยาศาสตร์ โรงเรียนประจวบวิทยาลัย
อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ บอกว่า
การปฏิรูปการศึกษาต้องมีการพัฒนาการเรียนการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษา
เนื่องจากปัจจุบันหลักสูตรเน้นเนื้อหาสาระมากเกินไป ดังนั้น
แต่ละรายวิชาควรนำมาบูรณาการร่วมกันเพื่อลดภาระของนักเรียน
และในอนาคตต้องเน้นการสอนในเชิงกิจกรรมให้มากขึ้น ให้เด็กทำงานกลุ่ม
เน้นกระบวนการคิดวิเคราะห์ เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนเป็นคนดี มีน้ำใจ
ไม่ใช่เน้นแค่การแข่งขันเพื่อให้เรียนเก่ง แต่ไม่มีคุณธรรมและไร้น้ำใจ
จรี วัชรวงษ์ ผอ.โรงเรียนบ้านบ่อนอก (ทองวิทยา) ต.บ่อนอก อ.เมือง
จ.ประจวบคีรีขันธ์ เห็นว่า
การปฏิรูปการศึกษาควรให้ครูได้สอนหนังสืออย่างเดียว งานการเงิน งานพัสดุ
หรืองานธุรการควรจัดสรรบุคลากรมาให้ทุกโรงเรียน อาจว่าจ้างนักศึกษาระดับ
ปวช.มาทำหน้าที่แทน และควรปฏิรูปหลักสูตรให้ครูสอนในวิชาหลักๆ สำคัญคือ
ภาษาไทย คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ
แล้วเน้นสอนในเชิงพฤติกรรมโดยพิจารณาจากความสามารถของเด็ก ทั้งด้านดนตรี
กีฬา ศิลปะ และการเกษตร
อนันต์ มณีรัตน์ ผอ.โรงเรียนศรียาภัย อ.เมือง จ.ชุมพร บอกว่า
อยากให้ปฏิรูปหน่วยงานโดยมีเขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดนั้นๆ
เพราะขณะนี้โรงเรียนมัธยมศึกษาทุกโรงเรียนใน
จ.ชุมพรยังต้องขึ้นกับสำนักงานเขตพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี
เวลาติดต่อราชการแต่ละครั้งต้องเสียเวลาในการเดินทาง นอกจากนี้
ระบบบริหารยังไม่ให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคลอย่างแท้จริง
เพราะส่วนกลางยังคงหวงอำนาจไว้ เช่น
เราต้องการครูคนนี้ที่เราพิจารณาแล้วว่าเก่ง
แต่ไม่ให้อำนาจเราบรรจุครูคนนั้น
หากเป็นเช่นนี้จะทำให้โรงเรียนมีคุณภาพได้อย่างไร
ผศ.ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ หัวหน้าวิชารัฐศาสตร์ สำนักศิลปศาสตร์
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช
ที่เคยเป็นครูประชาบาลโรงเรียนขนาดเล็กมา 18 ปี
มองว่าการปฏิรูปการศึกษาที่เสริมกำลังให้หน่วยงานของรัฐ โรงเรียน
เขตพื้นที่การศึกษา
โดยไม่ได้คำนึงถึงคุณสมบัติของผู้เรียนเป็นหลักจะล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
การปฏิรูปการศึกษาต้องปฏิรูปผู้เรียนเป็นหลัก ว่าผู้เรียนที่ดีเป็นอย่างไร
ที่เก่งเป็นอย่างไร มีคุณภาพอย่างไร จากนั้นค่อยขยายไปสู่ผู้สอน
อุปกรณ์การเรียน ขยายไปสู่ผู้ปกครอง
ถวัลย์ ตันธีระพงศ์ ผอ.โรงเรียนคุรุประชาสรรค์ อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท
ให้ความเห็นถึงการตั้งซุปเปอร์บอร์ดเพื่อดูแลการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ
ระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการว่า เรื่องนี้เหมือนเหล้าเก่าในขวดใหม่
โครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการปัจจุบันมีการกระจายอำนาจ อยู่แล้ว
ต้องเป็นผู้ที่มีผลงานและเติบโตในสายงานมา
หากจะตั้งคณะบุคคลขึ้นมาพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงแทน
เป็นการดึงอำนาจไปรวบไว้ในมือของคณะบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
จะส่งผลร้ายต่อระบบการศึกษาไทยอย่างแน่นอน
มานัส นพคุณ ผอ.โรงเรียนเสริมงามวิทยาคม อ.เสริมงาม จ.ลำปาง
กลับเห็นต่างว่า ซุปเปอร์บอร์ดเป็นเรื่องที่น่ายินดี
ที่จะมีการปฏิรูประบบการศึกษาให้เข้าถึงปัญหาและพัฒนามากยิ่งขึ้น
หากเป็นไปได้ก็น่าจะมีสภาการศึกษาระดับจังหวัดขึ้นมา
เพื่อให้ทุกคนมาร่วมถกและร่วมกันรวบรวมปัญหา
และส่งแผนการศึกษาไปยังส่วนกลาง
แต่หากซุปเปอร์บอร์ดยังกระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลางเหมือนเดิมก็คงไม่ต่างอะไร
จากที่ผ่านมา เพราะจะไม่เข้าใจถึงแต่ละจังหวัด
ขอเน้นย้ำว่าต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นถึงจะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการ
ปฏิรูประบบการศึกษาของไทย
ณัฐพล นุชอุดม ผอ.โรงเรียนบ้านคลองหลวง ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
สนับสนุนการปฏิรูปการศึกษา เพราะเรายังล้าหลังประเทศเพื่อนบ้าน
อาจมีสาเหตุทั้งเรื่องตัวครู เรื่องงบประมาณ เรื่องโครงสร้างต่างๆ
ของการศึกษาเมืองไทย
ประเด็นที่เราอยากปฏิรูปคือคุณภาพของครูให้เป็นอาชีพที่มีค่า มีเกียรติ
ส่วนผู้บริหารสถานศึกษาต้องมีการกระจายอำนาจ พร้อมให้คณะครู ชุมชน
และเอกชนมีส่วนร่วมด้วย
เป็นเสียงจากครูและผู้บริหารการศึกษาในจังหวัดต่างๆ
สะท้อนไปถึงผู้มีอำนาจข้างบนได้รับฟัง
เพื่อที่จะช่วยให้การปฏิรูปการศึกษาของไทยไม่ล้มเหลวเหมือนที่ผ่านมาอีก
ที่มา --มติชน ฉบับวันที่ 11 ก.พ. 2558 (กรอบบ่าย)-- |
โพสเมื่อ :
11 ก.พ. 58
อ่าน 1546 ครั้ง คำค้นหา :
|
|