’มหิดล’คลอดหลักสูตรชาวนาอาชีพสร้างเยาวชนเป็นนักเกษตรธุรกิจ




      

'มหิดล'คลอดหลักสูตรชาวนาอาชีพสร้างเยาวชนเป็นนักเกษตรธุรกิจ

          วิกฤติปัญหาชาวนาในช่วงปีที่ผ่านมา ถูกกะเทาะเปลือกปัญหาชาวนาออกมามากมายครบวงจรการผลิต ตั้งแต่ปัญหาด้านที่ดิน ปัญหาต้นทุนการผลิตตั้งแต่พันธุ์ข้าว ปุ๋ย ยา ปัญหาด้านแรงงาน ปัญหาด้านการดูแลนาข้าว การเก็บเกี่ยว ตลอดจนการขายข้าวเปลือก หรือผลผลิต ซึ่งการแก้ไขที่ผ่านมาของภาครัฐและรัฐบาลมักจะดูแลช่วยเหลือพยุงราคา ประกันราคา ตลอดจนจำนำข้าว อันเป็นการช่วยเหลือเฉพาะในส่วนของผลผลิต
          หากแท้จริงแล้วการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องจะต้องวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา ซึ่งค้นพบในทุกเส้นทางของการทำนาตลอดฤดูการผลิต ที่ชาวนาต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคนานาประการ เกิดคำถาม ว่า ทำอย่างไร จึงมีแนวทางในการนำความรู้มาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนหากจะต้องการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต้องปรับเปลี่ยนทั้งระบบ หากไปแก้ไขที่เยาวชนที่จะเข้าสู่แรงงานในภาคเกษตรก็จะเกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมต่ออนาคตของเกษตรกรไทย
          น.ส.พรพิรัตน์ คันธธาศิริ หัวหน้าหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (การประกอบการภูมินิเวศน์วัฒนธรรม) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2558 มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ จะเริ่มเปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรภูมินิเวศน์วัฒนธรรม ที่มาของหลักสูตรเป็นการปฏิรูปการศึกษาแบบใหม่ไม่ใช่แค่วิชาการอย่างเดียว ตามแนวคิดการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21
          เน้นการนำเอาปัญหามาเป็นแบบเรียนเน้นปฏิบัติจริง ประกอบกับประเทศไทยมีเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก หลักสูตรนี้จึงมุ่งหมายที่จะให้เกิดเกษตรกรที่เป็นผู้ประกอบการได้บนพื้นฐานวิทยาศาสตร์เกษตร ข้าว พืชไร่ พืชสวน ปศุสัตว์ และประมง ส่งเสริมให้เกิดการเรียนการสอนในบ้านเกิด ในอาชีพเกษตรที่เป็นอาชีพส่วนใหญ่ของไทย ไม่เกิดสมองไหลไปทำงานในภาคอุตสาหกรรม
          น.ส.พรพิรัตน์ ชี้แจงว่า หลักสูตรดังกล่าวเป็นการเรียนการสอนที่ประยุกต์ใช้วัฒนธรรมร่วมกับการสร้างสรรค์ สอนทักษะในการประยุกต์ใช้เหตุและผลในชีวิตประจำวัน ประกอบด้วยการสอนในเรื่ององค์ความรู้และรู้รอบ โดยเน้นการปฏิบัติจริงตั้งแต่ปี 2 ที่ต้องออกไปเรียนรู้กับเกษตรกรจริง ในด้านวิทยาศาสตร์เกษตร ประกอบกับการเรียนในด้านบริหารจัดการเกษตร ซึ่งจะเรียนลึกมากขึ้นในแต่ละระดับชั้น นักศึกษาที่จบออกมาจะเป็นผู้ประกอบการเชิงเกษตรที่มีความคิดสร้างสรรค์ทำเกษตรแบบไม่จน เรียนรู้กระบวนการทำการเกษตร สอนให้เรียนรู้ว่ากระบวนการแต่ละขั้นตอนของเกษตรนั้นๆ อย่างละเอียด ส่วนที่แตกต่างกับหลักสูตรอื่นที่สำคัญ คือ บทบาทของอาจารย์จะเป็นโค้ชชิ่ง ทดแทนรูปแบบเดิมๆ ในลักษณะบรรยาย หรือเลคเชอร์ ที่พิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถนำไปสู่การประยุกต์ใช้ผลงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          นักศึกษาจะต้องเรียนรู้ให้ผลิตได้ และแปรรูปเป็น จึงเป็นได้ทั้งเกษตรกร และผู้ประกอบการเกษตร สร้างมุมมองว่าอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่สร้าง รายได้ให้เขาได้ เรียนรู้ด้านวัฒนธรรมไทยที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ให้รู้ว่าการกินการอยู่ที่เป็นภูมิวัฒนธรรมเป็นรากฐานการเกษตร ชี้ให้เห็นคุณค่าของสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ แล้วหาแนวทางที่เหมาะสมในการประยุกต์ใช้กับการทำเกษตรได้
          นอกจากนี้นักศึกษายังต้องเรียนรู้วัฒนธรรมเพื่อให้เห็นถึงอดีตแล้วนำสิ่งที่ดีในอดีตมาประยุกต์ใช้ ในรายวิชาการประกอบการสร้างสรรค์จะใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น หรือที่เรียกว่า ครีเอทีฟ อีโคโนมี ให้เห็นคุณค่าสิ่งที่มีอยู่แล้วสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น
          การจัดตั้งหลักสูตรภูมินิเวศน์วัฒนธรรม ในมหาวิทยาลัยมหิดล จังหวัดนครสวรรค์ อยู่ในระหว่างกระบวนการเตรียมจัดตั้ง คาดว่าจะสามารถรับนักศึกษาได้ในปีการศึกษา 2558 ผู้ที่จะเข้ารับการศึกษาจะมาจากนักเรียนมัธยมสายสามัญ และวิทยาลัยเกษตรในรูปแบบรับตรง ซึ่งในปัจจุบันได้ติดต่อกับวิทยาลัยเกษตรที่อยู่ใน จ.นครสวรรค์และจังหวัดใกล้เคียง
          วิทยาเขตนครสวรรค์ต้องการตอบสนองความต้องการแก้ไขปัญหาพื้นที่ในภูมิภาคเหนือตอนล่าง พื้นที่ 7 จังหวัด คือ ตาก อุทัย พิจิตร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ ชัยนาท และนครสวรรค์ มีสินค้าเกษตรสำคัญคือ ข้าว และอ้อย เป็นที่มาของรายได้กว่า 70% ของพื้นที่ นโยบายของวิทยาเขตมองว่า นครสวรรค์เป็นฮับของพื้นที่ของข้าว เป็นที่ตั้งของท่าข้าว และต้นน้ำเจ้าพระยา นครสวรรค์จึงต้องสร้างทั้งคนทั้งอาชีพให้รองรับการประกอบธุรกิจเกษตร ทั้งนี้จากการเรียนการสอนที่ต้องใช้การฝึกปฏิบัติจริงให้เรียนรู้การแก้ไขปัญหา
          ด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์ และเกษตรปลอดภัย และแนวคิดด้านเศรษฐกิจพอเพียง จะทำให้เกิดเด็กรุ่นใหม่ที่จะก้าวเข้าสู่อาชีพเกษตรกร มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ จึงมีแนวคิดจะปฏิรูปและพลิกฟื้นให้เปลี่ยนจากวิถีเกษตรไม่ยากจน เป็นเกษตรที่ร่ำรวย ให้เลี้ยงตัวเองรอดได้อย่างยั่งยืน หาวิธีเพิ่มมูลค่าผลผลิต รองรับยุทธศาสตร์ครัวของโลก การสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่การสร้างความรู้อย่างแท้จริงให้แก่เยาวชนเพื่อช่วยให้การพัฒนาเศรษฐกิจประเทศเป็นไปได้อย่างถูกต้อง น.ส.พรพิรัตน์ กล่าว
          พบกับการพูดคุยและการหาแนวทางร่วมกันจากภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน เพื่อให้ชาวนาไทยมีทางออกแบบยั่งยืนได้ใน เวทีเสวนาสัญจร หัวข้อ ชาวนายั่งยืน ชาติไทยยั่งยืน ในวันที่ 23 มิถุนายน ที่ หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์

        

 

  ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


โพสเมื่อ : 16 มิ.ย. 57   อ่าน 1853 ครั้ง      คำค้นหา :