วงถก สปช.ปูดทุจริตลาม "ย้ายครู"



ชู "กระจายอำนาจ" แก้เหลื่อมล้ำ วงถก สปช.ปูดทุจริตลาม "ย้ายครู"

งานสัมมนาของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) วันที่ 2 ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ มีการนำเสนอผลประชุมกลุ่มย่อย 10 กลุ่ม ภายใต้หัวข้อ "เราจะไปสู่ อนาคตที่หวังไว้ได้อย่างไร" ซึ่งการระดมสมองเสนอทิศทางการปฏิรูปประเทศ "กรุงเทพธุรกิจ" สรุปสาระสำคัญมานำเสนอ

การนำเสนอผลการประชุมกลุ่มย่อยเมื่อวานนี้ (10 พ.ย.) นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สมาชิก สปช.ด้านอื่นๆ ทำหน้าที่เป็นผู้นำอภิปราย ซึ่งภาพรวมในแต่ละกลุ่มนำเสนอในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย ทั้งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำทางทรัพยากร และความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

:"กระจายงบ"ต้องเป็นธรรม

เริ่มจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทุกกลุ่มเห็นคล้ายๆ กันว่ามีสาเหตุจากช่องว่างรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจนมีมากขึ้น รวมถึง การเกิดช่องว่างระหว่างคนเมืองกับคนชนบท เกิดความเหลื่อมล้ำทางโอกาสที่ไม่เท่าเทียมกันในทางเศรษฐกิจ ควรมีการปฏิรูประบบงบประมาณ ให้เป็นงบประมาณของพื้นที่ กระจายงบประมาณอย่างเป็นธรรม เพิ่มนโยบายเศรษฐกิจที่เป็นทุนนิยมโลก สังคมนิยมแบบเสรี โดยเฉพาะเรื่องสวัสดิการสำหรับคนชนบทที่ต้องได้รับมากขึ้น

นอกจากนั้นยังเสนอให้เพิ่มมาตรการด้านแรงงาน พัฒนาฝีมือแรงงาน และเพิ่มการสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์ ด้านนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเป็นช่องทางให้คนมีรายได้น้อยสามารถมีรายได้ เพิ่มมากขึ้น

:เดินหน้า"โฉนดชุมชน"

ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ควรมีการจัดสรรทรัพยากรอย่างเพียงพอและเป็นธรรม จัดสรรที่ดินทำกินอย่างเท่าเทียมกัน เพราะพี่น้องชาวนาหลายคนขายที่ดิน แล้วเช่าที่ดินทำนา ต้องปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการถือครองที่ดิน โดยมีมาตรการเก็บภาษีผู้ที่ถือครองที่ดินมากแต่ไม่ใช้ประโยชน์ มีการปลูกฝังสร้างจิตสำนึกให้หวงแหนที่ดินทำกิน สร้างโฉนดชุมชน

:ให้ท้องถิ่นจัดการศึกษา

ด้านการศึกษา สมาชิก สปช.มองว่าครูและนักเรียนไทยขาดคุณภาพ สังคมยกย่องเฉพาะคนจบปริญญา ทั้งๆ ที่ควรหันมาให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาท้องถิ่น และปราชญ์ชาวบ้าน ให้ท้องถิ่นจัดการเรียนการสอนกันเองเพื่อปรับให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพิ่มพื้นที่การศึกษาให้ เท่าเทียมกับพลเมือง ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาผู้ด้อยโอกาส ผู้มีข้อจำกัดทางร่างกายให้เข้าถึงการศึกษามากขึ้น

ขณะเดียวกันต้องยกเลิกนโยบายให้นักเรียนออกจากโรงเรียนกลางคัน ส่วนปัจจัยที่ทำให้กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ทำงานได้ไม่เต็มที่ และการปฏิรูปการศึกษาไม่คืบหน้า คือ การเมืองเข้ามาแทรกแซงตลอดเวลา ขณะที่ ศธ.แบกความเป็นราชการมากเกินไป จุดอ่อนของ ราชการคือทำเพื่อนาย ขณะที่นายทำเพื่อ การเมือง ทั้งหมดนี้ทำให้ระบบการศึกษาไทย ล้าหลัง ไม่พัฒนา

วงสัมมนาเห็นตรงกันด้วยว่า ต้องปฏิรูป ความเหลื่อมล้ำทั้งด้านเศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติ และการศึกษาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ซึ่งการจะทำได้ต้องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้มากขึ้น แต่ที่ผ่านมากลับมี "มือที่มองไม่เห็น" ขัดขวางการกระจายอำนาจ

:"นักการเมือง"คืออุปสรรค

วงสัมมนายังระบุว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่แก้ไขไม่ได้นั้น อุปสรรคสำคัญอยู่ที่นักการเมือง ส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐก็มีส่วนได้เสีย ประพฤติมิชอบ รวมไปถึงค่านิยมของคนไทยที่เปลี่ยนไป มัก ยกมือไหว้คนที่มีเงิน มีทรัพย์สิน มากกว่า คนที่ซื่อสัตย์สุจริต คำนึงถึงผลประโยชน์ของกลุ่มนายทุน ผู้เสียผลประโยชน์ ด้วยเหตุนี้ความเหลื่อมล้ำจึงยังคงมีอยู่ในสังคม

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิก สปช.กล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น เป็นเพราะวิธีคิดของสังคมมองไม่เห็นความเท่าเทียมของคนในสังคม กลไกภาครัฐไม่เอื้อต่อการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และนโยบายสาธารณะของแต่ละรัฐบาลไม่ต่อเนื่อง ขาดความชัดเจน
ดังนั้นต้องมีการส่งเสริมการกระจาย อำนาจ เพื่อให้ท้องถิ่นและชุมชนจัดการปัญหาความยากจนได้ ส่งเสริมการศึกษา อาชีพสำหรับ ผู้ด้อยโอกาส ปรับปรุงโครงสร้างภาษีเพื่อเกื้อหนุนกลุ่มด้อยโอกาส สิ่งสำคัญที่สุดคือความรู้ การให้ความรู้ รณรงค์ ส่งเสริมวัฒนธรรม ต่อต้านไม่ยอมรับคนโกงให้แก่เด็กนักเรียน และประชาชนอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้น ต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายการควบคุมป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันทั้งด้าน เศรษฐกิจ การคอร์รัปชันทางการเมือง และวัฒนธรรมที่ส่งเสริมให้เกิดการคอร์รัปชัน โดยเฉพาะวัฒนธรรมอุปถัมภ์

:ครูต้องเสียตัวแลกโยกย้าย

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง สมาชิก สปช. กล่าวถึงแนวคิดปฏิรูปการศึกษาว่า ต้องมีการพัฒนาบุคลากรครูให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเวลานี้มีปัญหาในเรื่องของการโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม เช่น มีการพูดกันว่าต้อง "เสียตัว" ถึงจะได้ย้าย ครูที่อยู่ในโรงเรียนห่างไกลหากต้องการย้ายเข้ามาสอนในเมือง ต้องมีการเสียค่ากิโลเมตรเพื่อจ่ายเงินเพิ่มให้โรงเรียนและ เสียตัวด้วย จึงจะได้ย้ายเข้าไปสอนในเมือง
เรื่องนี้ต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ให้การแต่งตั้งโยกย้ายเป็นธรรม เพราะถ้าปฏิรูปอย่างจริงจัง ต้องกล้ายอมรับปัญหาด้วย ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็น "ปฏิลูบ" ประเด็นนี้ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิก สปช. ได้มีการทักท้วงเรื่องการเสียตัว โดยให้ระบุว่าเป็นแนวคิดภายในกลุ่มเท่านั้น เนื่องจากเกรงว่าสื่อมวลชนจะเข้าใจผิดว่าเป็นแนวคิด ของ สปช.ทั้งหมด ซึ่ง นางสาวสารี ก็ยืนยันว่า เรื่องนี้เป็นแนวคิดของกลุ่ม 9 (กลุ่มย่อยที่ร่วมสัมมนา) ไม่ใช่ความคิดของ สปช.ทั้งหมด

ชู'ปฏิรูปอาชีวะ'ลดเหลื่อมล้ำการศึกษา

นายคุรุจิต นาครทรรพ สมาชิก สปช. กล่าวในการนำเสนอผลประชุมกลุ่มย่อยของ สปช.ว่า ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษานั้น สามารถแก้ไขได้ โดยควรส่งเสริมการศึกษาสายอาชีวะอย่างจริงจัง เพิ่มสวัสดิการครู และประเมินผลครู ลดมหาวิทยาลัยที่ไม่ผ่านเกณฑ์คุณภาพ สร้างค่านิยมครูและนักเรียนว่าการมีงานทำ มีครอบครัว คือความสำเร็จในชีวิต

ทั้งนี้ ในประเด็นส่งเสริมการศึกษาสายอาชีวะ วานนี้ มีความเคลื่อนไหวจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดย นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า ได้เตรียมจัดทำแผนปฏิรูปการอาชีวศึกษาระยะ 10 ปี เป็นการดำเนินการต่อยอดจากการปฏิรูปโครงสร้างอาชีวศึกษาตามนโยบายของ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยได้มอบหมายให้ที่ปรึกษา สอศ.ไปดำเนินการศึกษา เบื้องต้นตั้งธงไว้ 20 ประเด็น เช่น การปรับภาพลักษณ์และค่านิยมอาชีวศึกษา, การแก้ปัญหานักเรียนก่อเหตุทะเลาะวิวาท, การจัดการศึกษาระบบทวิภาคี, การบริหารงบประมาณค่าอุปกรณ์การเรียนรายหัว, การเพิ่มจำนวนผู้เรียน การลดจำนวนนักเรียนออก กลางคัน, การผลิตและพัฒนาครู เป็นต้น

 

 

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ อังคาร 11 พฤศจิกายน 2557 ปีที่: 28 ฉบับที่: 9546 

Section: First Section/บทนำ-วิเคราะห์
หน้า: 1(กลาง), 2

ลิงก์ http://www.iqnewsclip.com/selection/onesqa.htm

ดาวน์โหลดคลิปข่าวเป็นไฟล์ PDF คลิกด้านล่าง


โพสเมื่อ : 11 พ.ย. 57   อ่าน 1371 ครั้ง      คำค้นหา :