สพฐ.เป็นปลื้มเดือนเดียวทำสำเร็จลดยอดเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้



ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิด เผยถึงการแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของนักเรียน ตามนโยบายปี 2558 ปลอดนักเรียนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า หลังจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้พัฒนาระบบการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในสังกัด โดยคัดเลือกโรงเรียนจำนวน 2,020 โรง มาเป็นโรงเรียนกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจการอ่านออก เขียนได้ของนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6 ซึ่งการสำรวจนักเรียนชั้น ป.1 ครั้งที่ 1 เดือนมิถุนายน 2558 พบว่า มีนักเรียนอ่านไม่ออกร้อยละ 11.5 และเขียนไม่ได้ร้อยละ 8.7 การสำรวจครั้งที่ 2 เดือนกรกฎาคม 2558 นักเรียนอ่านไม่ออกลดลงเหลือร้อยละ 5.6 และ เขียนไม่ได้หลือร้อยละ 5.0 แสดงให้เห็นว่า แนวทางการจัดการเรียนการสอนที่ สพฐ.ได้พัฒนาให้แก่โรงเรียน และการจัดสอนเสริมให้แก่นักเรียนที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาเป็นรายบุคคล นั้นประสบความสำเร็จระดับหนึ่งแล้ว

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า ส่วนการสำรวจนักเรียน ชั้น ป.2-ป.6 ก็พบว่า จำนวนนักเรียนที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ รวมถึงอ่านและเขียนไม่คล่องก็ลดลงทุกระดับชั้นเช่นกัน โดยการประเมินครั้งที่ 1 มีนักเรียน ป.2 อ่าน ไม่ออก ร้อยละ 8.2 เขียนไม่ได้ร้อยละ 11.2 ประเมินครั้งที่ 2 เหลืออ่านไม่ออกร้อยละ 5.0 เขียนไม่ได้ร้อยละ 7.0 ป.3 ครั้งที่ 1 อ่านไม่ออกร้อยละ 5.0 เขียนไม่ได้ร้อยละ 7.6 ครั้งที่ 2 เหลืออ่านไม่ออกร้อยละ 2.8 เขียนไม่ได้ร้อยละ 5.3 ป.4 ครั้งที่ 1 อ่านไม่คล่องร้อยละ 4.4 เขียนไม่คล่องร้อยละ 11.3 ครั้งที่ 2 เหลืออ่านไม่คล่องร้อยละ 2.5 เขียนไม่คล่องร้อยละ 8.1 ส่วน ป.5 ครั้งที่ 1 อ่านไม่คล่องร้อยละ 3.5 เขียนไม่คล่องร้อยละ 9.7 ครั้งที่ 2 เหลืออ่านไม่คล่องร้อยละ 1.9 เขียนไม่คล่องร้อยละ 6.6 และ ป.6 ครั้งที่ 1 อ่านไม่คล่องร้อยละ 2.6 เขียนไม่คล่องร้อยละ 7.0 ครั้งที่ 2 อ่านไม่คล่องร้อยละ 1.4 และเขียนไม่คล่องร้อยละ 4.7



ที่มา เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 25 ส.ค. 2558 (กรอบบ่าย)


โพสเมื่อ : 24 ส.ค. 58   อ่าน 1489 ครั้ง      คำค้นหา :