![]() |
กมล เผยแนวทางปฏิรูปการศึกษาลดอำนาจส่วนกลาง กระจายอำนาจเขตพื้นที่ฯ มากขึ้น รวมทั้งยังลดบทบาทภาครัฐจัดการศึกษา เพิ่มศักยภาพให้ภาคเอกชน ออก กม.ห้ามการเมืองแทรกแซงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือระบบ สั่ง สพฐ.ตั้งคณะทำงานใหม่ 2 ชุด รองรับการปฏิรูปการศึกษาชุด สปช. ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมาธิการการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมได้มีการกำหนดแนวทางในการดำเนินงาน 5 ประเด็น ได้แก่ 1.ผลักดันให้การศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ และเชื่อมโยงการพัฒนาทุกด้านสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศระยะยาว 2.ขจัดความเหลื่อมล้ำและประกันโอกาสเข้าถึงการศึกษาของคนไทยทุกคนอย่างเท่า เทียมกัน 3.ปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะในเรื่องการพัฒนาครู พัฒนาสถานศึกษา อนาคตจะไม่เน้นการพัฒนาเขตพื้นที่ฯ แต่จะเน้นพัฒนาครูและโรงเรียน รวมถึงการเพิ่มสมรรถนะของคนไทยและของประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ 4.ลดขนาดการจัดการภาครัฐ และกระจายอำนาจไปสู่เขตพื้นที่ฯ และสถานศึกษา โดยภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา และ 5.การปรับกลไกทางกฎหมายให้รองรับการปฏิรูป เช่น โครงสร้าง กฎระเบียบต่างๆ วางกลไกที่ลดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง รวมถึงจะมีการศึกษาข้อเสนอแนะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาจจะมีรูปแบบการทำงานเช่นเดียวกับ ป.ป.ช. หรือศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะมีผู้เข้ามาแทรกแซงยาก โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ทำหน้าที่เพียงกำกับ แต่ห้ามเกี่ยวข้องกับการวางแผนหรือนโยบายต่างๆ ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีฉันทามติเบื้องต้น เลือก ดร.พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นประธาน นายกมลกล่าวต่อว่า ตนเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แต่ก็ดำรงตำแหน่งเลขาฯ กพฐ.ด้วย จึงมีหน้าที่สำคัญที่ต้องเตรียมการรองรับการทำงานต่างๆ ตามแนวทางการปฏิรูปที่จะเกิดขึ้น จึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 2 ชุด ได้แก่ 1.คณะทำงานกลุ่มการบริหารจัดการ โดยจะทำหน้าที่รับฟังความคิดเห็น ทำประชาพิจารณ์ จัดประชุม สัมมนา เป็นเรื่องเชิงธุรการ และ 2.คณะทำงานกลุ่มด้านวิชาการ มีหน้าที่ประมวลข้อมูลเพื่อนำเสนอไปยังคณะกรรมาธิการการศึกษาฯ ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าก่อนที่จะมีการปฏิรูปการศึกษาแล้วเสร็จภายใน 1 ปีนั้น อาจมีบางประเด็นที่ต้องมาพิจารณาถูกตัดสินและสามารถดำเนินการได้ทันที เช่น เรื่องการปรับโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ อาจจะมีการเสนอกฎหมาย หรือระเบียบต่างๆ ต่อ กมธ.การศึกษาฯ เพื่อเสนอต่อ สปช.พิจารณาดำเนินการได้ทันที เป็นต้น.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 29 ตุลาคม 2557 |
โพสเมื่อ : 29 ต.ค. 57 อ่าน 1451 ครั้ง คำค้นหา : |