เปลี่ยนวิธีสอน-ย้ำนำร่องหลักสูตรใหม่ปี 57




      

เปลี่ยนวิธีสอน-ย้ำนำร่องหลักสูตรใหม่ปี 57

          นายภาวิช ทองโรจน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวถึงกรณีสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) เตรียมเสนอแนวทางการปฏิรูปการศึกษาที่ได้วิจัยร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับรมว.ศึกษาธิการ โดยสรุปว่า ยังไม่ควรเร่งนำหลักสูตรที่กำลังทำใหม่ไปใช้ในปีการศึกษา 2557 เพราะต้องใช้เวลาและควรหารือกับคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ก่อน โดยเสนอให้ปรับเปลี่ยนวิธีการสอนครู ที่เน้นให้เด็กคิดวิเคราะห์มากขึ้นก่อนว่า เห็นด้วยว่าควรปรับเปลี่ยนวิธีการสอนของครู แต่ยอมรับว่าการปรับเปลี่ยนครูถือเป็นเรื่องยากที่สุด และที่สำคัญ คือ หน่วยงานที่ดูแลการพัฒนาครู อย่างสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.) ก็มีปัญหาอยู่ ฉะนั้น จึงต้องมองไปที่การปรับระบบการผลิตครูใหม่ แทนการปรับเปลี่ยนครูที่สอนอยู่ในเวลานี้
          หลักสูตรผลิตครูในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ที่ต้องการครูที่สอนได้ทั่วไป เหมือนแพทย์จีพีที่ตรวจรักษาโรคทั่วไปได้ ขณะที่การผลิตครูปริญญาตรีกลับให้เลือกวิชาเอก ที่แยกเป็นเอกประถมฯ มัธยมฯ วัดผล หรือแนะแนว พอส่งลงสนามจริงๆ กลับสอนหนังสือไม่ได้ การเปลี่ยนการสอนด้วยระยะเวลาสั้นๆ คงทำไม่ได้ ทั้งนี้ได้เสนอสถาบันที่ผลิตครูไปแล้วว่า ควรผลิตครูทั่วไปในระดับปริญญาตรี และผลิตครูวิชาเอกปริญญาโท ซึ่งฝ่ายผลิตครูก็ไม่ได้ว่าอะไร โดยเร็วๆ นี้จะหารือในรายละเอียดอีกครั้ง นายภาวิช กล่าว
          ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า ส่วนการนำหลักสูตรใหม่ไปใช้นั้น เบื้องต้นเห็นร่วมกันว่า ควรนำไปใช้ในภาคเรียนที่ 1/2557 นี้ แต่จะใช้พร้อมกันทั้งประเทศ หรือใช้เฉพาะ ป.1, ป.4, ม.1 และ ม.4 ตลอดจนใช้ในช่วงชั้นที่ 1 และ 3 หรือใช้เฉพาะโรงเรียนนำร่องก่อน คงมีแนวทางที่ชัดเจนหลังจากประชุมกำหนดแผนปฏิบัติงานในวันที่ 31 ม.ค.นี้
         

         

 

 ที่มา: http://www.matichon.co.th/khaosod



โพสเมื่อ : 21 ม.ค. 57   อ่าน 1557 ครั้ง      คำค้นหา :