วอนเห็นใจครูทำงานไม่มีความสุข
นักวิชาการวอนเห็นใจครูทำงานไม่มีความสุข งานเยอะ
แต่ไม่ใช่งานหลักของตัวเอง ถูกลิดรอนเวลาในการสอนถึง 42 % ต่อปี
ทำให้เด็กบ่นครูขาดสอนบ่อย ๆ
ชี้รัฐเดินถูกทางที่ปฎิรูปการศึกษาโดยเน้นไปที่ตัวครู  .....
วันนี้
(16 ม.ค.) ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ได้จัดงานเนื่องในโอกาสวันครู ประจำปี 2558 โดย รศ.ดร.บัญชา ชลาภิรมย์
คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า คณะครุศาสตร์ จุฬา ฯ
เป็นหนึ่งในสถาบันที่ทำหน้าที่ผลิตครู ตระหนักถึงความสำคัญของ “ครู”
ซึ่งเป็นอาชีพที่มีความสำคัญต่อคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์
โดยเฉพาะเรื่องของการศึกษา หากประเทศใดมี “ครู” ที่มีคุณภาพ
ย่อมเป็นการยืนยันได้ถึงแนวโน้มในการมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ
สามารถพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไปในอนาคต
แม้ว่าระบบการศึกษาจะเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคมไทยและสังคมโลกอย่างไรก็
ตามสิ่งที่ดำรงอยู่ในวิชาชีพครูคือ การทำหน้าที่สอน การเป็นแบบอย่างที่ดี
การสั่งสมความรู้ ให้ผู้เรียนสามารถเป็นครูที่สมบูรณ์แบบ
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬา ฯ กล่าวว่า
สถานการณ์ครูไทยในปัจจุบันมีภาระการทำงานมากขึ้น เพราะเด็กมีปัญหาเยอะ เช่น
เด็กใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่เจอปัญหาความรุนแรง
เด็กภาคเหนือปัญหายาเสพติด เด็กในกรุงเทพฯพ่อแม่แตะไม่ได้ และเด็กยากจน
ดังนั้นครูจึงไม่ใช่มีหน้าที่สอนเพียงอย่างเดียว
แต่ต้องสอนทักษะชีวิตและหยุดภาวะสังคมที่กำลังป่วยให้ได้
นอกจากนี้ครูถูกลิดรอนการทำงาน โดยให้ทำในสิ่งที่ไม่ใช่งานหลัก คือ
ต้องทำงานเอกสาร รับการประเมินต่าง ๆ พาเด็กไปแข่งขัน
ส่งผลให้ครูมีเวลาการสอนลดลง จากต้องสอน 200 วันต่อปี ถูกลดการสอนไปถึง 42%
หรือ84 วัน
"การที่ครูไม่ได้ทำหน้าที่สอน
ซึ่งเป็นงานหลักถือเป็นอันตรายมากทำให้ครูไม่มีความสุข
เพราะไม่ได้ทำงานหน้าที่โดยตรงของตนอย่างเต็มที่
อีกทั้งมีเสียงบ่นจากเด็กในโรงเรียนขนาดเล็ก ว่าครูขาดสอนบ่อย
ขณะเดียวกันครูถูกมองแง่ลบ ทำโทษเด็ก เอาเวลาไปสอนพิเศษ หรือทำอาชีพเสริม
"ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวและว่า การที่รัฐบาลปฎิรูปการศึกษาโดยเน้นตัวครู
การผลิตครู ใช้กฎหมายมาบังคับ ปรับโครงสร้าง การเพิ่มสวัสดิการให้ครู
สร้างความมั่นคง ทำให้คนเก่ง คนดีมาเรียนครูมากขึ้น ถือว่ามาถูกทางแล้ว.
ที่มา เดลินิวส์ วันศุกร์ 16 มกราคม 2558 |
โพสเมื่อ :
19 ม.ค. 58
อ่าน 1547 ครั้ง คำค้นหา :
|
|