จี้ทดสอบทักษะภาษาไทย ม.1, ม.4




      
จี้ทดสอบทักษะภาษาไทย ม.1, ม.4


          ศึกษาธิการ-สพฐ.ห่วง นร.มัธยมอ่าน-เขียนไม่ออก สั่งโรงเรียนมัธยมสแกนเด็กเข้าใหม่ ม.1, ม.4 ทดสอบทักษะภาษาไทย พร้อมสั่งครู ป.3 ทดสอบการเขียนเด็ก หวั่นแท็บเล็ตรุ่นแรกกระทบการเขียนของเด็ก 
          นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันนักเรียนมัธยมมีปัญหาอ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้นั้นค่อนข้างน่าเป็นห่วง ส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่สะสมมาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา แต่กลับไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งโรงเรียนปล่อยให้เด็กเลื่อนชั้นขึ้นมัธยมได้ทั้งที่ยังอ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้ เพราะฉะนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) จึงต้องเร่งรัดแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยได้สั่งการให้โรงเรียนมัธยมทั่วประเทศในสังกัดทำการทดสอบทักษะภาษาไทยของนักเรียนที่รับเข้าไปใหม่ ทั้งระดับ ม.1 และระดับ ม.4 ภายในสัปดาห์แรกที่เปิดภาคเรียน แล้วสรุปข้อมูลรายงานมายัง สพฐ. 
          เลขาฯ กพฐ.กล่าวอีกว่า สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (สวก.) ของ สพฐ. กำลังจัดทำคู่มือแก้ไขปัญหานักเรียนมัธยมศึกษาอ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้อยู่ ในคู่มือจะมีแนวทางการทดสอบวัดระดับความสามารถทางภาษาไทยของนักเรียน และแนวทางในการพัฒนาทักษะภาษาไทยให้กับนักเรียนที่มีปัญหา เพราะฉะนั้นหลังจากโรงเรียนทำการสแกนวัดทักษะภาษาไทยของนักเรียนที่เข้าใหม่แล้ว ก็ให้พัฒนาเด็กตามแนวทางในคู่มือ เพื่อให้เด็กอ่านออก-เขียนได้โดยเร็ว เพราะส่วนหนนึ่งที่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ รวมทั้งการที่เด็กทำคะแนนทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) และทำคะแนน Pisa ได้ต่ำ สาเหตุใหญ่เพราะเด็กอ่านโจทย์ไม่ออก สำหรับนักเรียนเดิมชั้น ม.2, ม.3, ม.5 และ ม.6 ก็ให้โรงเรียนจัดทดสอบทักษะการอ่านและทักษะการเขียนของนักเรียนด้วย เพราะนักเรียนที่จบชั้นมัธยมบางส่วนจะเข้าสู่ตลาดแรงงานทันที หากปล่อยให้เด็กยังอ่าน-เขียนไม่คล่องแล้ว จะมีปัญหาต่อการทำงานได้ 
          นอกจากนั้นยังได้สั่งการให้ครูชั้น ป.3 เตรียมทดสอบทักษะในการเขียนของนักเรียนที่กำลังเลื่อนชั้นขึ้น ป.3 ด้วย นักเรียนระดับชั้นนี้เป็นรุ่นแรกที่ได้รับแจกแท็บเล็ตตามโครงการ 1 คอมพิวเตอร์พกพก (แท็บเล็ต) ต่อ 1 นักเรียน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2555 ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่า เมื่อเด็กเปลี่ยนไปใช้แท็บเล็ตในการเรียนมากขึ้นแล้วอาจลดโอกาสในการฝึกเขียนของเด็กได้ เพราะอาศัยแต่การอ่านจากเครื่องแท็บเล็ต จำเป็นต้องมีการทดสอบการเขียนเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริง หากพบว่าความสามารถทางการเขียนของเด็กได้รับผลกระทบจริง จะได้หาทางพัฒนาทักษะการเขียนให้นักเรียนเพิ่มเติม

        

  ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


โพสเมื่อ : 28 เม.ย. 57   อ่าน 1437 ครั้ง      คำค้นหา :