![]() |
ประชุมปฏิรูปการศึกษาสู่ภาคปฏิบัติ พบปัญหาอื้อ
รร.ร้องได้ครูไม่ตรงตามต้องการ และไม่มีจิตวิญญาณความเป็นครู
เพราะอำนาจส่วนใหญ่อยู่ในกำมือ ก.ค.ศ.แนะต้องเร่งกระจายอำนาจให้สถานศึกษา
เตรียมสรุปปัญหาให้ "ณรงค์" พิจารณา นางประภาภัทร นิยม ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
กล่าวถึงความคืบหน้าการประชุมปฏิบัติการเกี่ยวกับนโยบายปฏิรูปการศึกษาภาค
ปฏิบัติของ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
(รมว.ศธ.) ว่า
ในการประชุมครั้งนี้นอกจากจะมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ฯ จำนวน 20 เขต
และผู้อำนวยการสถานศึกษาที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมแล้ว
ยังมีการเชิญผู้ประกอบการภาคเอกชน สภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต
ประชาสัมพันธ์ท้องถิ่น วิทยุชุมชน เป็นต้น เข้าร่วมประชุมด้วย
ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีมาก มีการแสดงความคิดที่หลากหลาย
และระบุว่าจะมีการประสานความร่วมมือกันในจังหวัดขับเคลื่อนการปฏิรูปการ
ศึกษาไปเป็นไปในทิศทางเดียวกัน นางประภาภัทรกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม จากการประชุมครั้งนี้
ทำให้พบข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ทั้งในแง่ผลกระทบ
และมุมมองการศึกษาของผู้เข้าร่วมประชุม เช่น เรื่องบุคลากร ปัญหาครูไม่ครบ
สอนไม่ตรงวิชาและไม่มีคุณภาพ เป็นปัญหาหลักของแต่ละสถานศึกษา
เพราะครูที่แต่ละโรงเรียนได้มา มาจากการสอบจากการสอบวัดผล
บางคนไม่มีจิตวิญญาณความเป็นครู นอกจากนี้ระเบียบการสอบคัดเลือก
การบรรจุเข้ารับตำแหน่ง การเลื่อนวิทยฐานะของครู
ยังเป็นการจัดการของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
(ก.ค.ศ.) ทำให้สถานศึกษาไม่มีอำนาจในตัดสินใจคัดเลือกบุคลากรเอง
จึงไม่ได้บุคลากรตามที่ต้องการ และสถานศึกษาต่างๆ
ยังมีความจำเป็นที่จะต้องจ้างครูพิเศษที่จะทำหน้าสอนในรายวิชาที่นักเรียน
เรียนอ่อน เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เป็นต้น
ซึ่งทำให้โรงเรียนต้องหางบประมาณเพื่อจ้างครูเอง
ไม่สามารถของบประมานจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้
ทางที่จะแก้ปัญหาคือต้องกระจายอำนาจในเรื่องนี้ลงไปสู่สถานศึกษาโดยเร็วที่
สุด นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงในเรื่องการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน
และวิธีการพัฒนาการสอนของครู
โดยเริ่มจากการทำให้ผู้บริหารสามารถสอนวิธีการสอนต่างๆ
แก่ครูได้อย่างเท่าเทียม
มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การสอนระหว่างครูและผู้บริหารในแต่ละสัปดาห์
ทำให้ทราบถึงปัญหาการสอนในชั้นเรียนของครู
และผู้บริหารก็จะช่วยแนะนำและปรับวิธีการสอนให้แก่ครู
เพื่อให้เกิดผลต่อผู้เรียนอย่างมากที่สุด "สำหรับในเรื่องของหลักสูตรที่ใช้ในการสอนนั้น มีข้อเสนอจากหลายสถานศึกษา ว่าจะต้องทำอย่างไร จึงจะหลุดออกจากการเรียนการสอนตามหลักสูตรกลางทั้ง 8 กลุ่มสาระได้ เพราะว่าโรงเรียนในต่างจังหวัดมีความต้องการที่เน้นในวิชาหลักอย่าง ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา เท่านั้น เพราะในวิชาการงานอาชีพ หรืออื่นๆ สามารถเป็นไปตามบริบทของแต่ละพื้นที่ได้ ไม่ควรที่จะทำเป็นของสอบกลางที่ใช้วัดทั้งประเทศ” ที่ปรึกษา รมว.ศธ.กล่าว และว่า ทาง ศธ.มอบหมายให้ผู้ที่เข้าร่วมประชุมปฏิบัติการ สรุปถึงปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายใน 10 วัน หลังประชุมปฏิบัติการเสร็จ เพื่อเสนอต่อ รมว.ศธ. เพื่อเตรียมดำเนินการขับเคลื่อนแก้ไขในเรื่องดังกล่าวต่อไป.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 3 ธันวาคม 2557 |
โพสเมื่อ : 03 ธ.ค. 57 อ่าน 1557 ครั้ง คำค้นหา : |