การติดตามและประเมินผล การจัดการศึกษา




      
การติดตามและประเมินผล การจัดการศึกษา


          สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาดำเนินการติดตามผลการจัดการศึกษา เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายในภาพรวม และชี้แนะแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น โดยดำเนินการมาแล้ว ๒ รอบ ในรอบแรกใช้วิธีการรวบรวมข้อมูล ๓ ลักษณะ คือ ๑) วิเคราะห์เอกสารผลการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งสถิติข้อมูลที่เกี่ยวข้องตามตัวบ่งชี้ ๒)สังเกตและสัมภาษณ์ในพื้นที่ ๓) ใช้แบบสอบถามกับกลุ่มเป้าหมายทุกระดับ/ประเภทการศึกษา ทุกสังกัน/กระทรวง และทุกจังหวัดทั่วประเทศใน ๕ กลุ่ม คือ ผู้เรียน ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และผู้ปกครอง โดยสุ่มกลุ่มตัวอย่างตามหลักสถิติประมาณร้อยละ ๑ ของประชากร ดำเนินการรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม ๒๕๕๖ ได้แบบสอบถามคืนมาประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ คน ส่วนรอบสอง เป็นการเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถาม และเพิ่มการจัดสนทนากลุ่ม(focus group) ระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน ๒๕๕๖
          ผลการติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาพบว่า ภาพรวมหน่วยงานที่จัดการศึกษาทุกสังกัดมีการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาได้ผลดีเป็นส่วนใหญ่ คำตอบสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่ามีการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพตั้งแต่อนุบาลจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา และเห็นว่ากองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาช่วยเพิ่มโอกาสทางการศึกษาได้มาก
          ในด้านปัญหาการศึกษา พบว่ายังมีปัญหาบางเรื่องมีปัญหาเด็กออกกลางคันซึ่งออกในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นมากที่สุด สาเหตุมาจากปัญหาครอบครัว และอพยพตามผู้ปกครอง ส่วนเรื่องความพร้อมในการรองรับการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน ยังต้องปรับปรุงเรื่องการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ การปลูกฝังนิสัยรักการอ่านซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จ คนไทยอายุ ๖ ปีขึ้นไป ใช้เวลาอ่านหนังสือเพียง ๓๕ นาทีต่อวัน ซึ่งค่อนข้างน้อย เป็นต้น
          การดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒาการศึกษาในภาพรวมส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ก้าวต่อไปในอนาคตคงต้องให้ความสำคัญกับบางประเด็นที่ยังไม่ได้ดำเนินการ หรือมีแนวโน้มดำเนินการไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ได้แก่ คุณภาพการศึกษาที่ยังต่ำกว่าเป้าหมาย โอกาสทางการศึกษายังไม่เท่าเทียบกัน กำลังแรงงานที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและความพร้อมในการรองรับการเปิดเสรีประชาคมอาเซียนจึงควรให้ความสำคัญและมุ่งดำเนินการพัฒนาเพิ่มขึ้นในอนาคตต่อไป
          รายละเอียดผลการติดตามการจัดการศึกษาสามารถดูได้ในโปรแกรมประยุกต์การศึกษาไทยด้านประเมินผลการศึกษา (Eva-Ed)ที่ www.onec.go.th

          

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน


โพสเมื่อ : 17 ก.พ. 57   อ่าน 1282 ครั้ง      คำค้นหา :