อาชีวะเยือนถิ่นอิเหนาดันโปรเจ็กต์สองปริญญา




      

อาชีวะเยือนถิ่นอิเหนาดันโปรเจ็กต์สองปริญญา

          เมื่อช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีโอกาสร่วมคณะสื่อมวลชนติดตาม ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) พร้อมทั้งคณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ลัดฟ้าไปเยือนดินแดนหมู่เกาะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
          เพื่อเจรจาความร่วมมือด้านการเรียนการสอนระหว่างประเทศ ไทย-อินโดนีเซีย ใน 3 มิติ 3 เมือง
          ประกอบด้วย มิติความคืบหน้าโครงการที่ได้ลงนามความร่วมมือและนำร่องดำเนินการไปแล้วที่เมืองยกยาการ์ตา มิติที่แตกหน่อความร่วมมือออกมาเป็นโครงการใหม่ที่เมืองมาลัง ไปจนถึงมิติการเจรจาทาบทามเพื่อแสวงหาความร่วมมือในอนาคตที่เมืองบาหลี สำหรับมิติที่แตกหน่อเป็นโครงการใหม่ ซึ่งถือเป็นไฮไลต์ของ ทริปนี้ คือ การเจรจาหาข้อสรุปการดำเนินโครงการ 2 ภาษา 2 ประเทศ 2 ใบประกาศ 2 ปริญญา ที่โรงเรียนเอสเอ็มเคเอ็น 1 มาลัง โครงการที่มีชื่อเรียกสั้นๆ ว่า 2CLCDs นี้ เป็นโครงการที่แตกออกมาจาก โครงการแลกเปลี่ยนนักเรียน นักศึกษา ด้านภาษา วัฒนธรรม วิชาการ ทักษะชีวิต และการฝึกประสบการณ์ ซึ่งวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) กลุ่มภาคกลาง (ลพบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี ราชบุรี และชลบุรี) ได้ลงนามความร่วมมือกับคณะผู้บริหารโรงเรียนอาชีวศึกษาเกษตรอินโดฯ ไปตั้งแต่ ปี 2554
          ประธานลงนามฝ่ายไทยในครั้งนั้น คือ นายจรัล ยุบรัมย์ สมัยที่ยังดำรงตำแหน่ง ผอ.วษท.ลพบุรี กระทั่งปลาย ปี 2556 ที่ผ่านมา จึงเริ่มนำร่องแลกเปลี่ยนนักเรียนระหว่างกัน โดยไทยจัดส่งนักเรียนจาก วษท.ลพบุรี 10 คน และ วษท.ชัยภูมิอีก 1 คน ไปเรียนรู้ที่โรงเรียนเอสเอ็มเคเอ็น 13 มาลัง และเอเอ็มเคเอ็น 5 เจมเบอร์ แห่งละ 1 เดือน
          พอเข้าสู่ปี 2557 ได้ 6 วัน โรงเรียนเอสเอ็มเคเอ็น 13 มาลัง จึงส่งตัวแทนนักศึกษาสาขาเกษตรกรรม 6 คน และสาขาพยาบาล 7 คน มาศึกษาดูงานด้านการเกษตรและพยาบาลของไทยที่ วษท.กลุ่มภาคกลาง เป็นระยะเวลา 60 วัน ขณะที่เอเอ็มเคเอ็น 5 เจมเบอร์ มีแผนจัดส่งนักเรียนประมาณ 10 คนมาไทยในเดือน ต.ค.นี้
          เมื่อความร่วมมือระยะฟักไข่ ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ผอ.จรัล ซึ่งย้ายมานั่งเก้าอี้ ผอ.วท.พระนครศรีอยุธยา จึงริเริ่มโครงการ 2CLCDs เพื่อต่อยอดจากความร่วมมือจากการเกษตรสู่สายช่างทันที
          ในวันที่ 4 มี.ค.2557 ผอ.จรัลเชิญโรงเรียนของอินโดฯ รวม 6 แห่ง มาลงนามความร่วมมือกับสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 56 แห่ง และโรงเรียนสังกัดเทศบาลพระนครศรีอยุธยาอีก 5 โรง
          ก่อนคัดเลือกนักศึกษาสาขาไฟฟ้ากำลัง และเทคนิคคอมพิวเตอร์ รวม 7 คน มาเรียนที่โรงเรียนเอสเอ็มเคเอ็น 1 มาลัง พร้อมทั้งฝึกทักษะวิชาชีพในวีดีอีซี เป็นสถานที่ฝึกงาน ของนักเรียนอาชีวะโดยเฉพาะ ระหว่างวันที่ 25 พ.ค. - 16 ก.ค.2557
          สำหรับรายละเอียดที่ได้ตกลงในหลักการร่วมกันนั้น เลขาธิการชัยพฤกษ์ แจกแจงว่า ทั้งสองฝ่ายกำหนดแลกเปลี่ยนนักเรียนพร้อมกันในวันที่ 15 ต.ค. โดย วท.พระนครศรีอยุธยา จะคัดเลือกนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ปี 2 แผนกวิชาสารสนเทศ 16 คน มาศึกษาและฝึกงานที่โรงเรียนเอสเอ็มเคเอ็นต่างๆ ในเมืองมาลัง
          ทั้งสองประเทศจะเตรียมความพร้อมให้กับเด็กก่อน ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.-16 พ.ย. โดยมีค่าใช้จ่ายส่วนตัว 4 หมื่นบาทต่อคน ซึ่งเด็กของทั้งสองประเทศจะได้รับใบประกาศนีย บัตรเมื่อเรียนจบหลักสูตร แต่สำหรับใบปริญญาบัตรนั้น ระหว่างวันที่ 20-24 ส.ค. คณะผู้บริหารและครูจากโรงเรียนเอสเอ็มเคเอ็น 1, 9 และ 10 จากเมืองมาลัง พร้อมทั้งตัวแทนมหาวิทยาลัยเอกชน Sekolah Tinggi Teknik Atlas Nusantara หรือเอสทีทีเออาร์  จะเดินทางมาเจรจากำหนดกรอบทิศทางกับ วษท.กลุ่มภาคกลางอีกครั้ง ทางเอสทีทีเออาร์ ยืนยันแล้วว่าจะเปิดให้นักเรียน นักศึกษา วษท.กลุ่มภาคกลาง ใน 4 สาขา ประกอบด้วย อิเล็กทรอนิกส์ ไฟฟ้า เทคนิคอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีสารสนเทศ ไปเรียนต่อระดับปริญญาตรี ปีละ 10-15 คน โดยไม่เสียค่าลงทะเบียนแต่อย่างใด
          สำหรับมิติความคืบหน้าในโครงการที่ได้จับมือนำร่องไปแล้วนั้น คณะผู้บริหารสอศ.เดินทางไปรับฟังบรรยาสรุปจากผู้บริหาร โรงเรียนเอสเอ็มเค เนกีริ 1 ซาลาม ในเมือง ยกยาการ์ตา ซึ่งลงนามความร่วมมือกับ วษท.กลุ่มภาคกลาง ไปแล้วตั้งแต่ปี 2554
          จุดเด่นที่น่าสนใจของโรงเรียนแห่งนี้ คือ ตัวเลขจำนวนนักเรียน นักศึกษา ที่เพิ่มขึ้น ทุกปี โดยปีการศึกษา 2554 มีจำนวนผู้เรียน 826 คน ก่อนขยับขึ้นเป็น 898 คนในปี 2555 และเพิ่มเป็น 913 คนในปี 2556 ก่อนมาหยุดอยู่ที่ 924 คนในปีล่าสุด อีกทั้งยังโดดเด่นด้านงานวิจัยเกษตรอินทรีย์ที่ใช้แมลงกำจัดแมลง ซึ่งทั้งสองจุดนี้ สอศ.จะขอคำปรึกษาแบบลงลึกในรายละเอียดอีกครั้ง โดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนผู้เรียนสาขาเกษตร
          ส่วนมิติการทาบทามนั้น เกิดขึ้นที่โรงเรียนเอสเอ็มเคเอ็น 3 เดนปาซาร์ บาหลี หลังจากอินโดนีเซียเสร็จสิ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีได้ 1 วัน โดยโรงเรียนแห่งนี้ จัดการเรียนการสอนในระดับปวช.สาขาการโรงแรม เสริมสวยความงามและสปา การท่องเที่ยว และแฟชั่นดีไซน์ พร้อมทั้งเน้นเรียนภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส ในระดับ ปวช.1 และเน้นภาษาอังกฤษ และภาษาญี่ปุ่น ในระดับ ปวช.2 โดยจำกัดนักเรียนต่อห้องไม่เกิน 38 คน เพื่อให้การเรียนการสอนมีคุณภาพอย่างแท้จริง ปัจจุบันจึงมีนักเรียนอยู่ทั้งสิ้นแค่ 1,300 คน
          เนื่องจากบาหลีเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่คนไทยนิยมเดินทางมาพักผ่อน เราจึงเกริ่นถามถึงความเป็นไปได้ในการแลกเปลี่ยนนักเรียน นักศึกษาระหว่างกัน ซึ่งทางคุณ นิรุยูลี่ แอสทินี ผอ.โรงเรียนตอบรับทันที โดยขอนักเรียน นักศึกษาของเรา ช่วยสอนภาษาไทยให้กับครูและนักเรียนของเขาด้วย ซึ่งคาดว่าจะร่วมมืออย่างเป็นทางการได้ ในอีก 2-4 เดือนหลังจากนี้ เลขาธิการชัยพฤกษ์สรุปปิดท้าย

 

          --ข่าวสด ฉบับวันที่ 24 ก.ค. 2557 (กรอบบ่าย)--


โพสเมื่อ : 23 ก.ค. 57   อ่าน 1421 ครั้ง      คำค้นหา :