อาชีวะกลุ่มเสี่ยงทั้งรัฐและเอกชนเด้งรับมาตรการนายกฯ เอาจริง ก่อเหตุตีกันปิดทันที สช.จับตาสถานศึกษาเจ้าปัญหา ก่อเหตุแล้ว 2 ครั้ง ลั่นครบ 3 ครั้งเจอ “ยาแรง” ปิดถาวร
ด้านนายกสมาคมอาชีวะเอกชนชงมาตรการขึ้นแบล็กลิสต์ตัดสิทธิ์ กยศ. ขณะที่ สอศ.จ่อสั่งวิทยาลัยเสี่ยงงดรับเด็ก ปวช.บางสาขาในปีการศึกษา 2558 หวังตัดตอนทะเลาะวิวาทซ้ำซาก
ปัญหานักเรียนตีกันจนมีคนตายคนเจ็บสังเวยเป็นว่าเล่นนั้น เมื่อวันที่ 22 ก.ย. นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชน 18 แห่งที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก่อเหตุทะเลาะวิวาทว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้ชี้แจงมาตรการป้องกันและแก้ปัญหา โดยได้ย้ำนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้ปิดสถานศึกษาที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาททันที 3-7 วัน พร้อมให้สถาบันเสนอแผนป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ มาให้ สช.พิจารณา หากผ่านความเห็นชอบจึงจะอนุญาตให้เปิดการเรียนการสอน ทุกสถานศึกษายอมรับและเห็นชอบกับมาตรการดังกล่าว รวมทั้งเสนอมาตรการเพิ่มเติม อาทิ เพิ่มจุดเสี่ยงที่พบนักเรียนก่อเหตุ โดย เฉพาะกลุ่มนักเรียนที่ใช้รถจักรยานยนต์ การปรับเปลี่ยนเวลาเข้าเรียน-เลิกเรียน และการปรับเวลาเปิด-ปิดภาคเรียนไม่ให้ตรงกัน พร้อมเสนอปรับเพิ่มโทษทางกฎหมาย โดยหากนักเรียนถูกจับให้ตำรวจเชิญผู้ปกครองมารับทราบพฤติกรรม ไม่ใช่ให้ครูฝ่ายปกครองมารับก็ปล่อยตัวกลับ
“ส่วนการลงโทษสถานศึกษาถ้าปล่อยปละ ละเลยให้เกิดเหตุซ้ำซาก หากครบ 3 ครั้ง สช.จะให้งดรับเด็กทันทีในปีการศึกษาหน้า ซึ่งขณะนี้มีสถานศึกษาที่ก่อเหตุครบ 2 ครั้งแล้ว 1 แห่ง อยู่ระหว่างจับตาเป็นพิเศษ ถ้าก่อเหตุซ้ำอีกครั้งก็จะใช้มาตรการงดรับเด็กทันที และแนวโน้มจะใช้ยาแรงด้วยการปิดถาวร นอกจากนี้ ยังจับตาโรงเรียนที่ก่อเหตุแล้ว 1 ครั้ง ซึ่งมีอยู่ 4 แห่งด้วย” เลขาธิการ กช.กล่าว
นายจอมพงศ์ มงคลวนิช นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชน กล่าวว่า สมาคมฯ เห็นด้วยและเข้าใจความหวังดีของนายกฯ หากตรวจสอบชัดเจนว่าสถานศึกษาปล่อยปละละเลย ไม่มีมาตรการป้องกันปัญหาที่เหมาะสมก็สมควรปิดสถานศึกษา อยากเสนอให้เพิ่มมาตรการลงโทษเด็กควบคู่ไปกับมาตรการลงโทษสถานศึกษา โดยขึ้นแบล็กลิสต์เด็กที่ก่อเหตุทันที รวมทั้งส่งข้อมูลให้กองทุนกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพื่อให้หมดสิทธิ์กู้ การขึ้นแบล็กลิสต์อาจทำให้เด็กหวาดกลัวและเข็ดหลาบได้บ้าง ต้องยอมรับว่าปัจจุบันการลงโทษเด็กตามกฎหมายอ่อนมาก ดังนั้นต้องทำหลายมาตรการพร้อมกัน ที่สำคัญต้องเอาจริงกับการลงโทษเด็กที่ทำผิด
ด้านนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กำลังพิจารณาข้อมูลวิทยาลัยในกลุ่มเสี่ยงทั้ง 21 แห่งว่าที่ผ่านมามีเด็กในสาขาวิชาใดก่อเหตุทะเลาะวิวาทบ่อยครั้ง โดยในปีการศึกษา 2558 จะสั่งงดรับนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.1) ในแผนกหรือสาขาวิชานั้นๆ เบื้องต้นมีบางวิทยาลัยจะให้งดรับนักเรียน 1-2 สาขาวิชา โดยเฉพาะก่อสร้าง ช่างยนต์ ส่วน ปวช.2-3 กำลังพิจารณาว่าจะโอนย้ายไปเรียนรวมในวิทยาลัยอื่นด้วยหรือไม่ โดยจะโอนย้ายครูพร้อมอุปกรณ์การเรียนไปด้วย ซึ่งเบื้องต้นผู้อำนวยการวิทยาลัยก็เห็นด้วยและเชื่อว่าจะบรรเทาปัญหาการ ทะเลาะวิวาท