ปิดฉาก "แท็บเล็ต" เปลี่ยนเป็นซื้อ "ห้องแล็บคอมพิวเตอร์" ให้ 1,000 โรงเรียนแทน



ไอทีตีปีกกระทรวงการศึกษาฯ ประมูลคอมพ์พันล. ลุ้นสเป็กกลาง"สพฐ."แยกจัดซื้อ

ปิดฉาก "แท็บเลตนักเรียน" แปลงงบเหลือแค่จัดซื้อ "ห้องคอมพิวเตอร์" ให้ 1,000 โรงเรียนทั่วประเทศจัดซื้อได้เอง ฟาก "เวนเดอร์-ดีลเลอร์" สินค้าไอทีตีปีก รอลุ้นสเป็กกลาง "เอเซอร์-เลอโนโว-แอดไวซ์" พร้อมลุย-สนับสนุนคู่ค้ายื่นซองราคา

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังจากโครงการแท็บเลตพีซีเพื่อการศึกษาไทย (One Tablet Per Child) ได้ถูกยกเลิกไป โดย พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) และรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติในขณะนั้น ซึ่งในเวลานี้ได้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ทำให้มีงบประมาณการจัดซื้อแท็บเลตปี 2556 ในโซน 4 (มัธยมศึกษาปีที่ 1 ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ) เหลืออยู่ 1,100 ล้านบาท และรวมกับงบประมาณในปีการศึกษา 2557 จำนวน 5,800 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 6,900 ล้านบาท ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ด้านการศึกษาในรูปแบบอื่น ๆ เช่น สนับสนุนมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมเป็นเงิน 1,300 ล้านบาท และอบรมครูของโรงเรียนในสังกัด สพฐ. เป็นต้น

ปัจจุบันมีงบประมาณคงเหลือ 5,600 ล้านบาท ซึ่งเดิมมีแนวคิดว่าจะนำไปใช้ในโครงการห้องเรียนอัจฉริยะ (สมาร์ทคลาสรูม) แต่หลังจาก คสช.ตรวจสอบพบว่าการสร้างสมาร์ทคลาสรูมที่มีอุปกรณ์ไอทีต่าง ๆ เช่น คอมพิวเตอร์, แท็บเลต และระบบเชื่อมต่อต่าง ๆ จะใช้งบประมาณมากเกินไปและไม่สอดคล้องกับนโยบายที่ต้องการให้ทุกหน่วยงาน ประหยัด จึงมีการหารือร่วมกันเพื่อวางแผนการใช้งบประมาณ

ล่าสุด เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา จากการหารือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและ สพฐ.ได้ข้อสรุปว่า จะ เปลี่ยนมาเป็นการจัดซื้อห้องคอมพิวเตอร์ (คอมพิวเตอร์แล็บ) หรือโครงการยกระดับคุณภาพการศึกษาโดยใช้เทคโนโลยี โดยคัดเลือกโรงเรียน 1,000 แห่งทั่วประเทศ เฉลี่ยจังหวัดละ 1-2 แห่ง เป็นโรงเรียนในสังกัด สพฐ. หรือโรงเรียนมาตรฐานสากล (โรงเรียนประจำจังหวัด) และโรงเรียนในฝัน (โรงเรียนระดับอำเภอ)

สำหรับคอมพิวเตอร์แล็บประกอบด้วยคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (เดสก์ท็อป) 40 เครื่อง, แอ็กทีฟบอร์ดขนาด 52 นิ้ว พร้อมโซลูชั่นการสอน และตัวกระจายสัญญาณไว-ไฟ ซึ่งรวมแล้วไม่เกิน 1 ล้านบาท ทั้งโครงการจึงใช้งบประมาณ 800-900 ล้านบาท รูปแบบการจัดซื้อจะให้แต่ละโรงเรียนที่ได้รับคัดเลือกจัดซื้อเองตามสเป็ก กลางของ สพฐ. โดยไม่ต้องประมูล เนื่องจากมูลค่าโครงการไม่เกิน 100 ล้านบาท แต่ต้องมีบริษัทเข้ามายื่นซองเสนอราคาอย่างน้อย 3 ราย

"สเป็กกลางยังไม่ออก เพราะอยู่ระหว่างการหารือภายใน สพฐ. ที่สำคัญทุกโรงเรียนมีสิทธิ์ได้ ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่มีเพียง ป.1 และ ม.1 ที่ได้แท็บเลต"

ด้านนายณัฏฐ์ ณัฐนิธิการัชต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดไวซ์ โฮลดิ้งส์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การสนับสนุนโรงเรียนในโครงการดังกล่าวเป็นการกลับไปสู่การจัดซื้อรูปแบบเดิม เพราะในอดีต สพฐ.สนับสนุนโรงเรียนต่าง ๆ ด้วยวิธีนี้ ซึ่งเป็นประโยชน์กับการเรียนการสอนมากกว่าการแจกแท็บเลต เนื่องจากแต่ละโรงเรียนจัดซื้อได้เอง อีกทั้งคอมพิวเตอร์ใช้งานได้ครอบคลุมกว่า บริษัทพร้อมที่จะสนับสนุนตัวแทนในจังหวัดต่าง ๆ เข้าไปเสนอตัวในโครงการนี้ด้วย ซึ่งปัจจุบันแอดไวซ์มีสาขา 380 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็นร้านค้าที่บริหารเอง 119 สาขา ที่เหลือเป็นแฟรนไชส์ แอดไวซ์ช้อป และแอดไวซ์ มินิ

"สิ่งที่เห็นได้ชัดคือการ กระจายโอกาสให้ผู้ค้ารายย่อยในท้องถิ่นต่าง ๆ เพราะเดิมทีการจัดซื้อแท็บเลตส่วนกลางทำทั้งหมด ทำให้รายย่อยไม่สามารถแข่งขันได้ นอกจากนี้การให้คนในพื้นที่เข้าไปเสนอเป็นผลดีต่อโรงเรียนด้วย เพราะสามารถไปบริการได้ทันที ที่สำคัญแบบนี้โปร่งใสกว่าเดิมเยอะ เนื่องจากมีเพียงวิธีล็อกสเป็กเท่านั้นที่ทำให้รายอื่นแข่งไม่ได้ เราจึงจะร่วมยื่นซองแน่ ถ้าสเป็กกลางออกมา"

นายจีรวุฒิ วงศ์พิมลพร กรรมการผู้จัดการ ประจำประเทศไทย บริษัท เลอโนโว (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า สนใจเข้าร่วมโครงการนี้ตั้งแต่โครงการสมาร์ทคลาสรูม แต่ในครั้งนี้จะเป็นการสนับสนุนคู่ค้าเพื่อเสนอราคาให้โรงเรียนต่าง ๆ เพราะคู่ค้ามีความคุ้นเคยกับพื้นที่ และสะดวกกว่าในแง่การบริการ ซึ่งการให้แต่ละโรงเรียนจัดซื้อเองดีกว่าการรวมศูนย์การจัดซื้อ เนื่องจากแต่ละโรงเรียนตัดสินใจเลือกแบรนด์ที่ดีที่สุดได้เอง

"ตอนนี้คงต้องรอสเป็กกลางออกก่อน คิดว่าคงออกอีกไม่นาน การจัดซื้อคอมพิวเตอร์แล็บครั้งนี้น่าจะโปร่งใส เนื่องจากความเข้มงวดเกี่ยวกับเรื่องคอร์รัปชั่นของรัฐบาลนี้ อีกทั้งทุกบริษัทไอทีสามารถเข้าประมูลได้"

เช่นกันกับนายนิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ รองผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด กล่าวว่า มีแผนกที่ติดตามโครงการทางการศึกษามาตลอด ตั้งแต่ช่วงแท็บเลตนักเรียนจนถึงสมาร์ทคลาสรูม ล่าสุด แม้โครงการจะเปลี่ยนเป็นคอมพิวเตอร์แล็บก็ยังติดตามอยู่ ถ้าสเป็กกลางจาก สพฐ.ออกมาเมื่อใด บริษัทจะเป็นหนึ่งในผู้ยื่นข้อเสนอด้วยอย่างแน่นอน

นายสนธิญา หนูจีนเส้ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การสนับสนุนส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีมาใช้ด้านการศึกษาเป็นเรื่องที่ดีเพื่อ ให้นักเรียนมีโอกาสเข้าถึงอีเลิร์นนิ่งรูปแบบต่างๆ และการสร้างศูนย์คอมพิวเตอร์ โดยให้งบประมาณแต่ละโรงเรียนไปจัดซื้อเองจะทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึง ได้มากขึ้น ต่างจากการประมูลแท็บเลต

 

 

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ 13 ต.ค. 2557


โพสเมื่อ : 14 ต.ค. 57   อ่าน 1433 ครั้ง      คำค้นหา :