หลักสูตรภูมิพลังแผ่นดิน จับมือครุศาสตร์ จุฬาฯ สนับสนุนพัฒนาครูต้นแบบ
หลักสูตรภูมิพลังแผ่นดิน จับมือครุศาสตร์ จุฬาฯ สนับสนุนพัฒนาครูต้นแบบ
หลักสูตร ภูมิพลังแผ่นดิน จับมือคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมพัฒนาโครงการนำร่องผลิตครูต้นแบบ สร้างแม่พิมพ์ชุมชนช่วยขับเคลื่อนยกระดับการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่น ในพื้นที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เริ่มอบรม 26 ก.ค.2557 นายศิริธัช โรจนพฤกษ์ ประธานที่ปรึกษาผู้เข้าอบรมหลักสูตร ภูมิพลังแผ่นดิน สำหรับผู้บริหารระดับสูง (ภพผ.) รุ่นที่ 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า คณะกรรมการการทำกิจกรรมเพื่อสังคมผู้เข้าอบรมหลักสูตร ภูมิพลังแผ่นดินฯ รุ่นที่ 2 มอบทุนสนับสนุนหลักจำนวน 666,600 บาท แก่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนำไปใช้ในโครงการพัฒนาศักยภาพสถานศึกษาและชุมชน (ครูต้นแบบ) ในพื้นที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ซึ่งจะจัดอบรบในวันที่ 26-27 ก.ค.2557 และ 2 ส.ค.2557 โครงการครูต้นแบบดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษา ด้วยกระบวนการ สร้างและพัฒนาคน ยกระดับการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาชุมชน ด้วยการมุ่งเน้นพัฒนาครูให้เป็นแม่พิมพ์ของชุมชน ที่สามารถใช้ความรู้และศักยภาพขับเคลื่อนยกระดับการเรียนการสอนในท้องถิ่นให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อันจะส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้น โดยได้รับความร่วมมือ จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษา สระบุรี เขต 2 และกลุ่มโรงเรียนมัธยมศึกษา อ.แก่งคอย สำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษาเขต 4 คัดเลือกครูระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจากจำนวน 43 โรงเรียน ในอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 261 คน สำหรับเนื้อหาการอบรมครูต้นแบบประกอบด้วยเทคนิคการสอนรายวิชาหลัก 4 วิชา ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และอาเซียนศึกษา รวมถึงเทคนิคการออกข้อสอบ วิเคราะห์และตรวจข้อสอบ โดยมีวิทยากรต้นแบบจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถมและมัธยมเป็นผู้ให้การอบรม และจะมีการนิเทศติดตามและประเมินผลโครงการตลอดภาคการศึกษาปลาย ปีการศึกษา 2557 นายศิริธัช กล่าวว่า คณะผู้เข้าอบรมหลักสูตรภูมิพลังแผ่นดินฯ สนับสนุนโครงการครูต้นแบบ ในครั้งนี้ เนื่องจากเล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างความรู้อย่างยั่งยืน เพื่อเพิ่มศักยภาพทักษะความสามารถ ทางวิชาการแก่ครูท้องถิ่นให้เป็นครูต้นแบบที่จะนำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปพัฒนาคุณภาพการสอน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเด็กนักเรียนในชุมชนและพื้นที่โดยรอบ เป็นการช่วยพัฒนาความรู้ของชุมชนและประเทศชาติต่อไป หลักสูตรภูมิพลังแผ่นดินสำหรับผู้บริหารระดับสูง ไม่เพียงทำให้พวกเราได้เรียนรู้ถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในมุมที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน แต่ยังปลูกจิตสำนึกให้พวกเรารู้จักการเสียสละ และมีจุดมุ่งหมายในการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม สังคม และประเทศชาติ ให้มากขึ้นและเราหวังว่า การทำประโยชน์เพื่อสังคมในครั้งนี้ จะเป็นแบบอย่างอันดีแก่ผู้คนในสังคมในการดำเนินตามรอยพระราชปณิธาน และพระราชกรณียกิจขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการพัฒนาประเทศชาติของเราให้เจริญก้าวหน้ายั่งยืนสืบไป นายศิริธัช กล่าว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดหลักสูตร ภูมิพลังแผ่นดิน สำหรับผู้บริหารระดับสูง (ภพผ.) เป็นครั้งแรกขึ้นในเดือนสิงหาคม 2555 โดยมีศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานหลัก ในการจัดหลักสูตร ปัจจุบันเปิดสอนเป็นรุ่นที่ 3 โดยมีวัตถุประสงค์หลักที่จะสร้างพื้นที่เพื่อผสานพลังอันเป็นภูมิพลังของประเทศ ตลอดจนวางรากฐาน ความตระหนักรู้และเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการธำรงไว้ซึ่งสถาบันหลักของประเทศ โดยน้อมนำพระราชปณิธานและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงทุ่มเทและมุ่งมั่นในการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรือง และอยู่รอดผ่านพ้นสภาวะวิกฤติมาได้อย่างต่อเนื่อง เป็นบทเรียนและแนวทางในการปฏิบัติตลอด จนมุ่งเสริมสร้างเครือข่ายผู้บริหารระดับสูงของประเทศที่จะนำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนสืบไป ทั้งนี้ คณะกรรมการการทำกิจกรรมเพื่อสังคม ผู้เข้าอบรมหลักสูตร ภูมิพลังแผ่นดิน สำหรับผู้บริหาร ระดับสูง ซึ่งเข้ามอบงบประมาณสนับสนุนโครงการในครั้งนี้ ประกอบด้วย นายอภัยชนม์ วัชรสินธุ์ รศ.ดร.ชมนาท รัตนมณี นายอลงกรณ์ พลบุตร ผศ.ดร.พงศ์ศักดิ์ วัฒนสินธุ์ และ รศ.ดร. วรณพ วิยกาญจน์ ในการนี้อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล ประธานหลักสูตรฯ รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ และกรรมการผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.ทวีวงศ์ ศรีบุรี ให้เกียรติร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง |
โพสเมื่อ :
21 ก.ค. 57
อ่าน 1413 ครั้ง คำค้นหา :
|
|