![]() |
คสช. พลาดซ้ำ ขึ้นภาษีที่ดิน เลื่อนขึ้นเงินเดือน ขรก. 2 ล้านคน ทุบความนิยมรัฐบาลร่วง...บทความพิเศษ โดย ศัลยา ประชาชาติ
นับจนถึงขณะนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี "บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นนายกรัฐมนตรี ได้บริหารประเทศมาระยะหนึ่งแล้วในการ "สานต่อ" ภารกิจที่ คสช. ประกาศไว้เป็น "สัญญาประชาคม" โดยธงที่ชูมาตั้งแต่ต้นคือ "ปฏิรูป" ในหลายๆ ด้าน แต่ดูเหมือนว่าพันธสัญญาที่รัฐบาลประกาศไว้กับประชาชน ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายตามระยะเวลาที่กำหนด ขณะเดียวกัน กลายเป็นว่าหลายๆ เรื่องได้กลายเป็น "ยาขม" เสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะการ "ปฏิรูปภาษี" ที่ได้เห็น "สมหมาย ภาษี" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศเสียงดังฟังชัดว่าจะเดินหน้าผลักดัน "ปฏิรูปโครงสร้างภาษี" นับตั้งแต่ก้าวแรกที่ถูกเทียบเชิญให้เข้ามารับตำแหน่งใน ครม. ชุดนี้ ประกาศแนวทางปฏิรูปภาษีหลายๆ เรื่อง หนึ่งในนั้นคือ การผลักดันร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยมีเป้าหมายท้ายที่สุดเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
ที่สร้างความแตกตื่นล่าสุดก็คือในการประชุมขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ "สมหมาย" ประกาศชัดเจนว่าจะเสนอร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ ครม. พิจารณาภายในเดือนกุมภาพันธ์ พร้อมกางสูตรออกมาในเบื้องต้นว่าจะจัดเก็บภาษีที่ดิน3 ประเภท ได้แก่ 1) ที่ดินเพื่อการเกษตร กำหนดเพดานภาษีไม่เกิน 0.5% ของราคาประเมิน 2) ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัย กำหนดเพดานไม่เกิน 1% และ 3) ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อการพาณิชย์และที่ดินรกร้างว่างเปล่า กำหนดเพดานไม่เกิน 4% กรณีที่อยู่อาศัย มีแนวคิดว่าจะขยับมูลค่าบ้านที่ได้รับการยกเว้นภาษีจากไม่เกิน 1 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 2 ล้านบาท ส่วนบ้านที่เกิน 2 ล้านบาท ปีแรกจะเก็บภาษีเพียง 50% ปีที่สอง 75% และปีที่สาม 100% เพื่อให้ประชาชนได้มีเวลาปรับตัว ขณะที่เสียงคัดค้านก็ดังขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงมีเสียงของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่ระบุว่า อาจต้องผลักภาระต้นทุนภาษีที่ดินไปให้ผู้ซื้อบ้าน ทำให้ประชาชนเกิดอาการตื่นตระหนกตกใจกันในวงกว้าง ส่งผลให้เงื่อนเวลาที่จะเสนอร่างกฎหมายให้ ครม. พิจารณา ถูกขยับออกไปอีก
ผลจากเสียงคัดค้านที่ดังขึ้นทำให้ "รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์" ปลัดกระทรวงการคลัง ต้องประกาศว่า จะเสนอปรับลดเพดานภาษีลง 50% ได้แก่ ที่ดินเพื่อเกษตร จะกำหนดเพดานใหม่ที่ 0.25% จากเดิม 0.5%, ที่อยู่อาศัย กำหนดเพดานใหม่อยู่ที่ 0.5% จากเดิม 1%, ที่ดินเชิงพาณิชย์และที่รกร้างว่างเปล่า กำหนดเพดานใหม่ที่ 2% จากเดิม 4% โดยในส่วนของที่ดินรกร้างว่างเปล่า จะจัดเก็บในอัตรา 0.5% จากนั้นจะเพิ่ม 1 เท่าตัวทุก 3 ปี แต่สูงสุดจะไม่เกิน 2% ส่วนการยกเว้นภาษีที่อยู่อาศัย จะกลับมาอยู่ที่มูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาท และบ้านที่มูลค่าเกิน 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 3 ล้านบาท จะเก็บภาษี 50% ของอัตราที่กำหนด ส่วนบ้านที่มูลค่าเกิน 3 ล้านบาท จะจัดเก็บเต็มอัตรา 100% สอดคล้องกับเสียงจาก "กฤษฎา จีนะวิจารณะ" ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษกิจการคลัง (สศค.) ที่บอกว่าจะเสนอปรับลดอัตราเพดานลง เพื่อไม่ให้ประชาชนตื่นตกใจกับเพดานที่กำหนดไว้ค่อนข้างสูง ซึ่งไม่ใช่อัตราที่จะจัดเก็บจริง พร้อมยืนยันว่า อัตราจัดเก็บจริงจะพิจารณาไม่ให้ประชาชนมีภาระเพิ่มมากนักจากอัตราที่เสียอยู่ในปัจจุบัน และจะต้องหารือข้อสรุปเกี่ยวกับการผ่อนภาระให้ผู้มีรายได้น้อยให้ชัดเจนอีกครั้งก่อนเสนอ ครม. ต่อไป เรียกว่ากฎหมายที่รัฐบาลหวังว่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และหวังช่วยสร้างรายได้ให้กับรัฐบาล อาจไม่ง่ายอย่างที่คิด โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศและคนไทยอยู่ในภาวะฝืดเคืองเช่นนี้
ขณะที่อีกด้านแผนการที่จะเติมเงินในกระเป๋าข้าราชการ จากการประกาศปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ 4% ที่จะมีผลกับข้าราชการ 1.98 ล้านคน ในวันที่ 1 เมษายนนี้ ก็มีอันต้องเลื่อนออกไป จากที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้ออกหนังสือเวียนให้ส่วนราชการชะลอการเลื่อนขั้นเงินเดือนไว้ก่อน จนกว่าร่างพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือนจะมีผลใช้บังคับ เพราะคาดว่าจะไม่ทันวันที่ 1 เมษายนนี้ เรียกว่าข้าราชการเกือบ 2 ล้านคนต้องผิดหวังไปตามๆ กัน แม้ว่าจะ "ตกเบิก" ย้อนหลังให้ แต่หลายคนก็ตั้งความหวังและมีการใช้เงินอนาคตล่วงหน้าไปก่อนแล้ว ดังนั้น การได้รับเงินช้ากว่ากำหนด ก็อาจส่งผลต่อความตึงตัวของเงินในกระเป๋าได้ เช่นเดียวกับความคาดหวังของรัฐบาลจะได้เห็นการบริโภคที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มข้าราชการที่ได้รับการปรับเงินเดือนก็จะต้องล่าช้าออกไป เมื่อผสมกับหลายๆ ภารกิจของรัฐบาลที่ไม่สัมฤทธิผลตามเป้าหมาย โดยเฉพาะปัญหาปากท้อง ปัญหาเศรษฐกิจ จึงทุบคะแนนนิยมของรัฐบาลร่วงไปโดยปริยาย
สอดคล้องกับ"กรุงเทพโพลล์" สำรวจความคิดเห็นเรื่อง "ประเมินผลงาน 6 เดือน รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" จากประชาชน 1,158 คน จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ พบว่าประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจการบริหารงานของรัฐบาลลดลงจากการประเมินการทำงานรอบ 3 เดือน โดยเฉพาะที่ได้คะแนนน้อยที่สุด คือ ด้านเศรษฐกิจ สอดรับเป็นอย่างดีกับกระแสข่าวปรับ ครม. ที่ถูกกระพือออกมาเป็นระลอก และโฟกัสไปที่หน่วยงานด้านเศรษฐกิจอย่างกระทรวงการคลัง กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่อยู่ในความดูแลของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ "ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล" ทั้งหมดนี้เป็นเสียงเตือนว่า ช่วงเวลา "ฮันนีมูน" ของรัฐบาล "บิ๊กตู่ 1" กำลังจะหมดไป ซึ่งรัฐบาลก็คงต้องนำไปคิดต่อว่าจะแก้สมการเหล่านี้อย่างไร...โดยต้อง "คิด" และ "ทำ" ให้เร็วที่สุด!!
ที่มา มติชนออนไลน์ วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2558 |
โพสเมื่อ : 11 มี.ค. 58 อ่าน 1461 ครั้ง คำค้นหา : |