ทางออกการศึกษาไทย (1)



คอลัมน์ Education Ideas
โดย วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ - ผู้เขียน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านความคิดสร้างสรรค์ ศธ.


มองการศึกษาไทย จับไปตรงไหนก็ดูจะเต็มไปด้วยปัญหา และทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้รับผิดชอบการศึกษาของชาติ เช่น เปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูงในหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา มักจะมีการกําหนดนโยบายใหม่เพื่อแก้ปัญหาการศึกษาของชาติ


หลายครั้งมีการยกเลิกโครงการเดิมและจัดทําโครงการใหม่ โดยไม่คํานึงถึงความต่อเนื่องและผลสัมฤทธิ์ของโครงการ หลายนโยบายทําเพียงแค่เพื่อให้ได้รับความนิยมในช่วงเวลาสั้น ๆ โดยขาดการมองผลเสียที่จะตามมาในระยะยาว หลายโครงการทําเพื่อหาผลประโยชน์ในทางทุจริต และได้มีการฟ้องร้องและดําเนินคดีอยู่จนทุกวันนี้

การแก้ปัญหาแต่ละจุดโดยขาดความเข้าใจในภาพรวม นอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว อาจนํามาซึ่งปัญหาใหม่ที่ทําให้การพัฒนาการศึกษาของเราเหมือนเดินวนอยู่กับ ที่ และมีแนวโน้มว่าจะต่ำลงอย่างต่อเนื่อง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดและสร้างปัญหาอยู่จนทุกวันนี้ คือเรื่องการจัดตั้งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และสํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ที่มีจุดมุ่งหมายจะยกระดับคุณภาพการศึกษา แต่กลับกลายเป็นสร้างปัญหาใหม่ ๆ โดยที่คุณภาพการศึกษา นอกจากไม่ดีขึ้นยังต่ำลงเรื่อยมาจนทุกวันนี้

ในฐานะนักการศึกษาที่ทํางานใกล้ชิดกับเครือข่ายครู ผู้ปกครอง ผู้บริหาร และนักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศมาตั้งแต่ก่อนการปฏิรูปการศึกษา พ.ศ. 2542 ผมได้รับฟังปัญหา มีผู้เสนอความคิดเห็นและแนวทางแก้ปัญหามากมาย จากผู้เกี่ยวข้องที่ต้องรับผลจากความล้มเหลวของการจัดการการศึกษาตลอด 15 ปีที่ผ่านมา จึงขอนําเสนอ แนวทางพัฒนาการศึกษาของชาติ ประเด็นสําคัญ 2 เรื่อง คือการกระจายโอกาสทางการศึกษา และคุณภาพการศึกษา

1. การกระจายโอกาสทางการศึกษา ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโอกาสทางการศึกษานี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะที่ผ่านมา สิ่งที่เราทํานั้นเหมือนว่าเราได้จัดการศึกษาอย่างทั่วถึงแล้ว มีการเรียนฟรีอย่างมีคุณภาพ 12 ปี เรามีตัวเลขที่ดูเหมือนว่าจะดี แต่ในความเป็นจริง เด็กออกจากระบบโรงเรียนมากมาย โดยไม่ได้ประโยชน์จากการเรียนในระบบ เพราะการสอนด้วยเนื้อหาตําราที่ห่างไกลชีวิต ไม่ช่วยให้เด็กส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นจากเรื่องที่เรียน

การกระจายโอกาสทางการศึกษานี้สําคัญมากและเกี่ยวโยงไปหลายเรื่องขอสรุปปัญหาเรื่องโอกาสทางการศึกษาดังนี้

1.1 โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ เด็กยากจน เด็กชนบทมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพน้อยกว่าเด็กในเมืองและเด็ก มีฐานะดี เด็กยากจนเหล่านี้ไม่มีเงินกวดวิชา ส่วนมากจึงต้องเรียนโรงเรียนเล็ก ๆ ในชนบทที่ขาดแคลนบุคลากร ครุภัณฑ์ ส่วนเด็กที่พอจะมีเวลา มีฐานะก็มุ่งหน้ากวดวิชา สอบแข่งขันเข้าเรียนในเมือง เด็กในเมืองก็แข่งขันเข้าเรียน โรงเรียนดังหรือกรุงเทพฯ ในขณะที่รัฐจ่ายงบประมาณตามรายหัว โรงเรียนใหญ่ก็ได้งบฯมาก โรงเรียนเล็กได้งบฯน้อย โรงเรียนเล็กจึงขาดคุณครู เจ้าหน้าที่ วัสดุอุปกรณ์ ฯลฯ คุณภาพทางการศึกษา จึงแตกต่างกันมาก

 

....โปรดติดตามตอนต่อไป...

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ 10 ก.ย. 2557


โพสเมื่อ : 11 ก.ย. 57   อ่าน 1514 ครั้ง      คำค้นหา :