ชง คสช.ปฏิรูป สพฐ.3 แนวทาง




      

ชง คสช.ปฏิรูป สพฐ.3 แนวทาง

          ที่โรงแรมตรัง ถ.วิสุทธิกษัตริย์ กรุงเทพฯ นายชูชาติ ทรัพย์มาก ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านบริหารงานบุคคลและนิติการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นประธานการประชุมคณะทำงานพัฒนากฎหมายและระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษา (ระยะที่ 2) ที่ประชุมได้สรุปข้อคิดเห็นว่า การบริหารจัดการศึกษาในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา สพฐ.ยังมีจุดอ่อนและข้อจำกัดหลายประการ เช่น การจัดการศึกษาของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) มีจำนวนมากที่ไม่สอดรับกับการบริหารระบบการบริหารราชการทั้ง 77 จังหวัด ด้านการบริหารงานบุคคลในรูปแบบองค์คณะบุคคลซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ทำให้การบริหารและพัฒนาบุคลากรมีความล่าช้า ซับซ้อน การจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนยังไม่สอดรับกับบริบทในแต่ละเขตพื้นที่
          นายบุญรักษ์ ยอดเพชร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) พิษณุโลก เขต 1 กล่าวว่า ในการประชุมเพื่อพัฒนากฎหมายและระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลนั้น ได้ออกแบบแผนปฏิรูป 3 รูปแบบ คือ 1.การปรับปรุงระบบส่วนราชการและการบริหารจัดการปรับปรุงโครงสร้างและกระบวนการบริหารเพื่อแก้ปัญหาและจุดอ่อนทางด้านการบริหารจัดการศึกษา โดยเพิ่มเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาจาก 42 เขต เป็น 78 เขต โดยกรุงเทพมหานครมี 2 เขต 2.ปรับปรุงโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ โดยแยก สพฐ.ออกเป็น 3 องค์กรหลัก คือ สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการมัธยมศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และ 3.ปรับเปลี่ยนสถานะ สพฐ.เป็นทบวงการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ และเสนอให้มีสำนักผู้ตรวจราชการกรม 12 เขตตรวจราชการ และมีคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) ของแต่ละองค์กรหลัก จึงเห็นควรที่จะต้องมี การปฏิรูป โดยการนำเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

         

--มติชน ฉบับวันที่ 24 ก.ค. 2557 (กรอบบ่าย)--


โพสเมื่อ : 23 ก.ค. 57   อ่าน 1600 ครั้ง      คำค้นหา :