![]() |
"บัณฑิตย์" เผย สั่งปิดโรงเรียนเอกชนไม่ได้คุณภาพแล้ว 3 แห่ง ชี้ที่ผ่านมาเคี่ยวเข็ญเกินเยียวยา เร่งยกระดับโรงเรียนมาตรฐานสากลตามนโยบายเสมา 1 วันนี้ (15 ก.ย.) ดร.บัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายที่จะผลักดันให้เกิดโรงเรียนมาตรฐานสากล นั้น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้กำหนดเป้าหมายในเรื่องนี้ โดยดำเนินการคัดเลือกโรงเรียนเอกชน ประมาณ 20 แห่ง เพื่อยกระดับให้เป็นโรงเรียนมาตรฐานสากล ซึ่งโรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือก สช.พิจารณาแล้วว่า โรงเรียนเหล่านี้ มีการจัดการเรียนการสอนด้วยระบบคุณภาพ และมีรูปแบบที่ทันสมัยเทียบเคียงกับระดับสากล ดังนั้น โรงเรียนเหล่านี้จะเป็นต้นแบบของการจัดการเรียนการสอนที่ทันสมัยและมี ประสิทธิภาพ เพื่อให้โรงเรียนอื่นๆได้นำไปต่อยอดและพัฒนาให้เป็นโรงเรียนมาตรฐานสากลได้ เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ สช.ได้ดำเนินการให้มีโรงเรียนมาตรฐานสากลด้วย เลขาธิการ กช. กล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวทางการควบคุมคุณภาพโรงเรียนเอกชน นั้น ที่ผ่านมา สช.ไม่ได้ละเลยปัญหาดังกล่าว แม้ว่าจะมีกรณีโรงเรียนเอกชนหลายแห่งต้องปิดกิจการลงก็ตาม แต่ส่วนใหญ่มักเกิดจากการบริหารงานของเจ้าของโรงเรียนเอง หรือปัญหาเรื่องมรดกในกลุ่มของญาติพี่น้อง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการที่เด็กมาสมัครเรียนโรงเรียนเอกชนลดลงถึงต้องปิด กิจการ ทั้งนี้ ตามหลักการเมื่อมีการขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียนเอกชน สช.ก็จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ประเมินภายในเข้าไปตรวจสอบคุณภาพไม่ว่าจะเป็น บุคลากร ครู หรือระบบการจัดการเรียนการสอน และผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน “สิ่งสำคัญ คือ โรงเรียนเอกชนจะมีคุณภาพมากน้อยแค่ไหนนั้น ผู้ปกครองจะตัดสินเอง ว่าโรงเรียนใดมีคุณภาพเหมาะสมกับบุตร หลานของตนเองมากที่สุด โดย สช.ได้แบ่งกลุ่มโรงเรียนออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มโรงเรียนระดับดีมาก ระดับกลาง และระดับปรับปรุง ซึ่งกลุ่มโรงเรียนที่ต้องปรับปรุง สช.ได้พยายามเคี่ยวเข็ญจนเกินเยียวยาแล้ว และมีอยู่ประมาณ 3 โรงเรียนที่ไม่ได้คุณภาพ จนต้องสั่งปิดโรงเรียน” เลขาธิการ สช. กล่าว
ที่มา เดลินิวส์ วันจันทร์ 15 กันยายน 2557 |
โพสเมื่อ : 16 ก.ย. 57 อ่าน 1451 ครั้ง คำค้นหา : |