![]() |
สพฐ.ขายฝันใช้ข้อสอบอัตนัยรับนักเรียน นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงแนวคิดในการปรับข้อสอบการคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนต่อชั้น ม.1 และ ม.4 ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้มีทั้งข้อสอบปรนัย และอัตนัย ว่า เรื่องนี้เป็นแนวคิดที่ตรงกันระหว่างนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ และตน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถสั่งการให้ดำเนินการได้ทันที เพราะต้องมีการตั้งคณะทำงาน โดยมีทั้งโรงเรียน นักวิชาการ สำนักนโยบายแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน และฝ่ายอื่น ๆ ที่จะต้องไปศึกษาในรายละเอียดเพื่อนำเสนอบอร์ด กพฐ.พิจารณา เนื่องจากเรื่องนี้เป็นนโยบายการศึกษาที่จะต้องผ่านบอร์ด กพฐ. เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า โดยหลักการของแนวคิดนี้ คือ เพื่อทดสอบว่าเด็กที่จะเข้าเรียนมีความสามารถในการอ่าน เขียน และคิดวิเคราะห์ได้หรือไม่ โรงเรียนจะได้รู้ว่าเด็กแต่ละคนเป็นอย่างไร ต้องดูแลอย่างไร โดยตัวชี้วัดหลักจะอยู่ที่ข้อสอบปรนัยซึ่งเป็นข้อสอบส่วนใหญ่ เนื่องจากเท่าที่คิดไว้จะให้ทำข้อสอบอัตนัยเพียง 2 ข้อใน 100 ข้อ เท่านั้น เพราะฉะนั้นนักเรียนก็ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องทำข้อสอบอัตนัยมาก อีกทั้งถ้าเด็ก อ่านไม่ออกเขียนไม่คล่องแม้แต่ข้อสอบปรนัยก็คงทำไม่ได้มาก คะแนนก็ออกมาต่ำอยู่ดี เพราะไม่รู้ว่าจะตอบอะไร เช่นเดียวกับคะแนนการทดสอบทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต และการประเมินนักเรียนนานา ชาติ หรือพิซา ที่ได้คะแนนต่ำ เพราะนักเรียนอ่าน เขียนไม่คล่อง ทำให้ไม่เข้าใจโจทย์ จากการตรวจเยี่ยมสนามสอบรับนักเรียนที่ผ่านมาผมได้เห็นโจทย์ข้อสอบอัตนัย ที่ถามว่า ปัจจุบันในสังคมมีการลอกเลียนแบบเป็นจำนวนมาก เทปผี ซีดีปลอม ก็เป็นตัวอย่างของเรื่องนี้ นักเรียนคิดว่าทำไมเทปผี ซีดีปลอม จึงขายได้ และทำอย่างไรถึงจะทำให้เทปผี ซีดีปลอม ลดลง จากข้อสอบดังกล่าวเด็กต้องวิเคราะห์ว่าจะต้องตอบกี่ข้อ ซึ่งนักเรียนคนหนึ่งได้ตอบว่า ขายได้เพราะ ถูก และให้เลิกซื้อ ใช้แต่ของที่มีลิขสิทธิ์ จากคำตอบดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเด็กคนนี้วิเคราะห์ได้ว่าต้องตอบ 2 ข้อ ซึ่งเด็กสามารถตอบและเขียนได้ถูกต้อง เพียงแต่คำตอบแรกที่ตอบว่าถูกนั้น ยังไม่ถูกต้องทั้งหมด ต้องตอบว่าเพราะราคาถูกอย่างนี้เป็นต้น และ จากคำตอบของนักเรียน นอกจากจะได้เห็นการคิดวิเคราะห์และการใช้ภาษาแล้ว ยังได้เห็นถึงจริยธรรมของเด็กด้วย นายอภิชาติ กล่าว นายอภิชาติ กล่าวอีกว่า ในฐานะเลขาธิการ กพฐ.ยอมรับว่านักเรียนที่เป็นผลผลิตของ สพฐ.จะมีอยู่ 4 ประเภท คือ 1. อ่านเขียนไม่ได้เลย 2. อ่านได้ เขียนไม่ได้ 3. อ่านได้บ้าง เขียนได้บ้าง และ 4. อ่านเขียนได้ เข้าใจความ ซึ่งกลุ่มที่ 4 จะมีจำนวนมากที่สุด ขณะที่ 3 กลุ่มแรก ก็มีไม่น้อย แต่ จากตัวเลขที่มีการสแกนการอ่านออกเขียน ไม่ได้ของนักเรียนที่ออกมาแค่ไม่กี่หมื่นคนนั้น จากข้อมูลที่มีอยู่น่าจะต้องคูณสอง เพราะการสแกนดังกล่าวเป็นการสุ่มตัวเลขผล จากการสแกนจริงจึงไม่ชัดเจน ซึ่ง สพฐ.จะต้องทำความจริงให้ปรากฏ โดยการสำรวจทุกมิติอย่างละเอียด ว่าจริง ๆ แล้วเรามีเด็กที่มีปัญหาเรื่องการอ่านเขียนภาษาไทยจำนวนเท่าไร เพื่อจะได้แก้ปัญหากันต่อไป โดยขณะนี้ สพฐ.ก็กำลังระดมทำกันอยู่. --เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 10 เม.ย. 2557 (กรอบบ่าย)-- |
โพสเมื่อ : 09 เม.ย. 57 อ่าน 1393 ครั้ง คำค้นหา : |