'มศว'เดินเครื่องสร้างครูทางเลือกตอบโจทย์ความหลากหลาย-เน้นสำนึกชุมชน
ศ.ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดเผยว่า จากที่มศว มีบทบาทหน้าที่ในการผลิตครูโครงการเพชรในตมมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 เพื่อไปทำหน้าที่เป็นครูสอนในพื้นที่อาสาป้องกันตนเอง และพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ รวมถึงโครงการบัณฑิตคืนถิ่นเพื่อกลับไปเป็นครูที่จ.น่าน แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่และตาก ทำให้มศว เล็งเห็นว่าการผลิตครูเพื่อสนองต่อพื้นที่ทางการศึกษาแต่ละที่นั้นมีความจำเป็น อีกทั้งประสบการณ์ในการผลิตครูที่มศว สั่งสมมานาน ส่งผลให้มศว เตรียมการเพื่อผลิตครูการศึกษาทางเลือกหรือนอกระบบ โดยจะให้วิทยาลัยโพธิวิชชาลัยรับผิดชอบในส่วนนี้ เพิ่มจากภารกิจหลักผลิตบัณฑิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มศว สำรวจพบว่าการศึกษาทางเลือกจำเป็นอย่างยิ่งต่อสังคมไทย เพราะเรามีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ความหลากหลายทางศาสนา ความคิด ความเชื่อ ซึ่งการจัดการศึกษาแบบเดิมไม่สามารถตอบโจทย์ได้ และจากการลงพื้นที่ภาคเหนือพบว่าศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวงจำนวน 714 แห่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่ 11 จังหวัด ซึ่งมีประชากรชาติพันธุ์มากกว่า 1.2 ล้านคน แต่ส่วนใหญ่มีครูสอนตามศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเพียงคนเดียว มศวจึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะขับเคลื่อนครูนอกระบบหรือครูการศึกษาทางเลือกขึ้น ด้าน น.ส.พิสมัย เหมะธุริน ครูจากศูนย์การเรียนรู้ชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง บ้านแม่หลองใต้ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่กล่าวว่า การผลิตครูการศึกษาทางเลือก ต้องมีกระบวนการตั้งแต่การคัดเลือกเยาวชน กระบวนการจัดการเรียนการสอนภายใต้หลักสูตรที่ชุมชนมีส่วนร่วม กระบวนการหล่อหลอมให้มีจิตอาสา เสียสละ มีอุดมการณ์ มีความรู้ด้านเกษตรแนวเศรษฐกิจพอเพียง มีความสามารถในการแก้ปัญหาทุกสถานการณ์ และต้องเก่งเรื่องการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในชุมชน นายสมศักดิ์ วชิรพันธุ์ ผู้เสนองานวิจัยการจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงฯ กล่าวว่า การจะผลิตครูกศน ครูทางเลือกชุมชนชาวไทยภูเขา หลักสูตรที่ต้องเน้นคือเรื่องสุขภาพอนามัย การทำมาหากินที่เป็นสัมมาชีพ การดูแลธรรมชาติสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์สืบทอดวัฒนธรรม ที่สำคัญต้องมีความลุ่มลึกในเรื่องสังคมและชุมชน
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด |