นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.)
กล่าวถึงกรณีนักเรียนเลวเปิดเว็บไซต์แจ้งข้อมูลครูและโรงเรียนไม่ให้เด็กแต่งชุดไปรเวท
ว่า ตนคิดว่าการดำเนินการดังกล่าว
เป็นการเผยแพร่ข้อมูลที่อาจจะเป็นข้อมูลจริงหรือเป็นข้อมูลเท็จหรือไม่
ก็ไม่สามารถยืนยันได้
ซึ่งถือเป็นเรื่องไม่เหมาะสมในสถานการณ์ที่มีการเผชิญหน้าระหว่างครูและนักเรียน
ซึ่งครูที่ได้รับผลกระทบจะต้องรู้สึกอะไรบางอย่างหากชื่อถูกเผยแพร่ออกไปในโลกออนไลน์
เพราะเราก็ไม่แน่ใจว่าข้อมูลที่กลุ่มนักเรียนนำมาเผยแพร่นั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่
ดังนั้น ตนมีความจำเป็นที่จะต้องป้องกันไว้ก่อน
เพราะไม่เช่นนั้นในอนาคตอาจมีใครก็ไม่รู้นำข้อมูลเด็กมาเผยแพร่ได้
และอาจกลายเป็นข้อผูกพันที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน
เพื่อเป็นการป้องกันตนจึงมอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
และประสานกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)
กำลังพิจารณาอยู่ว่าข้อมูลการเผยแพร่รายชื่อครูและโรงเรียนที่ลงโทษเด็กผ่านเว็บไซต์ผิดในกระบวนการทางการกฎหมายอย่างไรบ้าง
“ที่ผ่านมาศธ.ตรวจสอบข้อมูลต่างๆทุกด้าน
และเปิดรับฟังข้อมูลทุกเรื่องร้องเรียนของเด็ก
ขณะที่ศธ.เองก็มีศูนย์คุ้มครองช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษา (ศคพ.)
อยู่แล้วแต่ทำไมเด็กถึงกลับเลือกไปลงข้อมูลผ่านโซเชียล
ทั้งนี้ข้อเรียกร้องของกลุ่มนักเรียนไม่ควรเกินขอบเขตและต้องคำนึงถึงคนปฎิบัติงานจริงด้วย
เพราะขณะนี้เรื่องเครื่องแบบนักเรียนศธ.อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขกฎ
ระเบียบอยู่
ดังนั้นหากการปรับแก้ระเบียบเครื่องแบบนักเรียนเสร็จสิ้นแล้วและเสียงประชามติส่วนใหญ่ออกมาว่าอย่างไรก็ต้องว่าไปตามนั้นทุกคนต้องยอมรับให้ได้
อย่างไรก็ตาม
ผมมองว่าทุกวันนี้โรงเรียนหลายแห่งก็มีแต่งชุดไปรเวทในลักษณะชุดพื้นเมืองอยู่แล้ว
ซึ่งเป็นฉันทามติจากชุมชน คณะกรรมการสถานศึกษา และโรงเรียนร่วมกันพิจารณา”
รมว.ศธ.กล่าว
ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ
กพฐ.) กล่าวว่า ในสังคมประชาธิปไตย
เราสามารถแสดงออกถึงความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ แต่การดำเนินการต่างๆ
จะต้องดำเนินการภายใต้กติกา ซึ่งในส่วนของการแต่งเครื่องแบบนักเรียนเรามี
กฎ ระเบียบกลางที่ทุกคนยึดถือปฏิบัติใช้ร่วมกันอยู่
และเมื่อมีประเด็นในส่วนของการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามระเบียบ
ก็ต้องมีบททางโทษโดยจะต้องดำเนินการภายในระเบียบ ว่าด้วย
การลงโทษนักเรียนของ ศธ. ที่จะกำหนดเรื่องลงโทษ 4 ข้อ ได้แก่
1ว่ากล่าวตักเตือน 2.ทำทัณฑ์บน 3.ตัดคะแนนประพฤติ
4.ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ดังนั้นจะมีการดำเนินการเกินนี้ไม่ได้
ทั้งนี้ในส่วนที่มีการเผยแพร่ข้อความว่า
ยางโรงเรียนมีการเตรียมใบลาออกให้นักเรียนที่แต่งชุดไปรเวทไปโรงเรียนนั้น
ตนมองว่าอาจจะเป็นการพูดโดยมีข้อวิตกกังวล หรือเป็นการคาดคะเน
เพราะความจริงเรื่องนี้ยังไม่ได้เกิดขึ้นและวิธีการลงโทษดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นไปตามระเบียบด้วย
อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าครูทุกคนรักและปรารถนาดีกับเด็กทุกคน
แต่เมื่อมีการทำผิดกติกาก็ต้องว่ากันด้วยเหตุและผล ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์
|