ล้างภาพ สทศ.ยุคใหม่ ข้ามพ้นแดนสนธยา
...ธเนศน์ นุ่นมัน ในฐานะองค์กรที่มีหน้าที่หลัก คือ วัดความรู้ความสามารถของผู้เรียนด้วยการสอบ นักเรียนผ่านการสอบในระยะ5 ปีที่ผ่านมาต่างทราบถึงกิตติศัพท์ของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.)แห่งนี้ดีว่า ต้องลุ้นกันตัวโก่งว่าข้อสอบที่วางอยู่ตรงหน้าจะมีคำถามพิสดารที่ชวนงุนงงอยู่กี่ข้อ ช่วงที่ผ่านมานักเรียนจำนวนหนึ่งถึงกับระบายความในใจผ่านกระดานความคิดเห็นในเครือข่ายออนไลน์ว่า ทันทีที่ออกจากห้องสอบ สิ่งแรกที่อยากทำ คืออยากจะเดินเข้าห้องร้องเรียนเรื่องข้อสอบและกระดาษคำตอบ ขณะที่มีรายงานว่า โรงเรียนและสถาบันกวดวิชาหลายแห่งพยายามเปลี่ยนรูปแบบการสอนตามข้อสอบที่ออกโดย สทศ. ซึ่งสะท้อนได้ถึงอิทธิพลขององค์กรนี้เป็นอย่างดี สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ผู้อำนวยการสทศ. คนปัจจุบัน บอกว่า จะต้องเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์องค์กรไปในทางที่ดีขึ้น ผมประกาศตั้งแต่วันที่เริ่มรับตำแหน่งว่า จะรับฟังทุกข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน โดยต้องตอบสนองความพึงพอใจ ภายใต้ความถูกต้องทางหลักวิชาการ และความเป็นธรรม ที่นำไปสู่ความสุขของทุกฝ่าย ความเป็นแดนสนธยาในแวดวงการศึกษาของ สทศ.ที่มีภาพลักษณ์ค่อนข้างลบจะต้องหมดไป เราตั้งเป้าที่จะเป็นขุมปัญญาให้กับประเทศเพราะการทดสอบนั้นแท้จริงแล้วคือภาพสะท้อนคุณภาพผู้เรียน ผู้อำนวยการ สทศ. กล่าว สัมพันธ์ อธิบายถึงที่มาของการออกข้อสอบวัดผลว่า ที่จริงแล้ว สทศ.เป็นเพียงหน่วยงานกลางที่รวบรวมทรัพยากรบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญด้านหลักสูตรจากที่ต่างๆ มาร่วมกันออกข้อสอบ บุคลากรเหล่านี้จะต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่เกี่ยวข้องกับการกวดวิชาในทุกรูปแบบ ไม่มีญาติหรือผู้ที่รู้จักมีส่วนได้ส่วนเสียกับข้อสอบหากตรวจพบภายหลังถือว่ามีความผิดร้ายแรง โดยชื่อของคณะทำงานที่ออกข้อสอบจะต้องอยู่ในชั้นความลับสูงสุดสัมพันธ์ กล่าวสัมพันธ์ บอกอีกว่า เป้าหมายของสทศ.ยังมีงานที่ท้าทายอีกมากรออยู่ โดยเฉพาะการออกข้อสอบวิชาเฉพาะเพื่อใช้คัดเลือกในระบบ การรับตรงส่วนกลางร่วมกันของมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสมาชิกที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการวิ่งรอกสอบ ผู้อำนวยการ สทศ. ยืนยันว่ามีความพร้อมที่จะจัดสอบวิชาเฉพาะ ในการรับตรงส่วนกลางร่วมกันอย่างเต็มที่เหลือเพียงรอข้อสรุปความชัดเจนจากแต่ละกลุ่มสาขาวิชาจากคณะทำงานแอดมิชชันฟอรัม ขณะที่เป้าหมายต่อไป สัมพันธ์ ทิ้งท้ายว่า ในอนาคตกระทรวงศึกษาธิการจะต้องนำผลคะแนนการทดสอบไปใช้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะคะแนนจากแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต ซึ่งหากคะแนนส่วนนี้หากถูกนำไปใช้อย่างจริงจัง ผู้บริหารโรงเรียนก็จะมีเครื่องมือในการเทียบเคียงคุณภาพและปรับปรุงการเรียนการสอนในทุกระดับให้มีเอกภาพในเชิงคุณภาพ แต่หลากหลายในการปฏิบัติได้ในที่สุด
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ |