จ้างทำหลักสูตรศธ.ต้องตอบ
เลาะเลียบคลองผดุงฯ
ตุลย์ ณ ราชดำเนิน tulacom@gmail.com
เริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่
กับการยกร่างหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานกันอีกครั้ง หลังพ้นจากเก้าอี้
รมว.ศธ. ของ นายจาตุรนต์ ฉายแสง และ ศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารมว.ศธ.
คนที่นั่งหัวโต๊ะ
ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ซึ่งเป็นผู้ผลักดันแข็งขันทำงานเรื่องนี้
ท่ามกลางความโล่งอกของคณะกรรมการ
การศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ที่ส่วนใหญ่วิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย
ของร่างหลักสูตร ดังกล่าวเห็นว่า ยังไม่ถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยน สอดรับกับ
นักวิชาการ และครูผู้สอนเห็นว่า ยังไม่จำเป็นต้องปรับทั้งระบบ
แต่ควรปรับในรายละเอียดเป็นรายวิชา
อย่างเช่น วิชาประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง
หรือแม้แต่หลักสูตรที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี
เหล่านี้ ที่ควรจะปรับเนื้อหาเป็นระยะๆ ให้สอดคล้องกับบริบทไทย บริบทโลก
แม้ว่าหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับที่ร่างยุคนั้น
ลดกลุ่มสาระเดิมจาก 8 กลุ่มให้เหลือ 6 กลุ่ม
และยกอ้างถึงศึกษาโครงสร้างหลักสูตรประเทศต่างๆ มาแล้ว 12 ประเทศ
เน้นลดจำนวนชั่วโมงเรียนในห้องเรียน ชั้นประถมเรียน 5 คาบต่อวัน
จากเดิมเรียน 6-7 คาบ และมัธยมจะเหลือ 6 คาบต่อวัน
ถ้าไม่มี คสช.เข้ามา รับรองได้ว่าหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ฉบับ ภาวิช ทองโรจน์ กับคณะ คงได้ประกาศใช้แน่นอน ภายในเดือนธ.ค.ปีนี้
ขณะเดียวกัน ณ เวลาไม่ห่างกันเท่าใด ยังถูกกำกับด้วย
ความเห็นของเลขาธิการ กพฐ. คนปัจจุบันด้วยว่า หลักสูตรฉบับภาวิชฯ
จัดทำขึ้นนั้นเปรียบเสมือนงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่สพฐ. คงเก็บไว้เป็นข้อมูล
เมื่อรมว.ศธ. เห็นชอบและมอบนโยบายหลักสูตรใหม่อิงฉบับภาวิชฯ
พลันน้ำเสียงเลขาธิการกพฐ. ก็เปลี่ยน เป็นนำมาใช้ได้ถึง 70-80%
คาดใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี
เหมือนป้อนอ้อยเข้าปากช้าง
กับการต้องมีการจ่ายเงินค่าจ้างดำเนินการจัดทำหลักสูตร ให้กับท่านภาวิช
ทองโรจน์ ที่ยังค้างอยู่อีก 15% แสดงว่ามีการรับไปแล้ว 85% ของเงินทั้งหมด
เลยกลายเป็นคำถามว่า เท่าไรกับการจ่ายเงินภาษีประชาชน
หรือเงินที่เด็กทั้งชาติตาดำๆ ควรได้รับไปพัฒนาเป็นค่าจ้างครั้งนี้
ในประวัติศาสตร์การศึกษาไทย
เคยมีการจ้างทำหลักสูตรในลักษณะเบ็ดเสร็จที่ว่านี้หรือไม่ โปรดตอบ
มิเช่นนั้น จะกลายเป็นภาพที่ไม่ดีกับนักการเมืองที่เข้ามามีอำนาจในศธ.
อย่างมิอาจลบได้
ที่มา ข่าวสดออนไลน์ วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2557