ร.ร.เอกชนจี้เพิ่มเงินรายหัวใหม่ ชี้รัฐขึ้นงด. 1.5 หมื่นบาท กระทบหนัก ค่าใช้จ่ายเพิ่ม - ทยอยกู้จ่ายเงินเดือน
เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม นางจิระพันธุ์ พิมพ์พันธุ์ นายกสมาคมสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากที่รัฐบาลได้มี นโยบายปรับเพิ่มเงินเดือนระดับปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท ซึ่งในส่วนของครูโรงเรียนเอกชนที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติเงินจำนวน 2,400 ล้านบาทในเงินอุดหนุนรายหัว ประจำปีงบประมาณ 2556 เพื่อใช้ปรับเพิ่มเงินค่าครองชีพชั่วคราวให้แก่ครูโรงเรียนเอกชนและปรับเงินเดือนแรกบรรจุของครูเอกชนระดับปริญญาตรีจาก 8,340 บาทเป็น 11,680 บาทนั้น ขณะนี้ได้รับเสียงสะท้อนจากโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศโดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนขนาดกลางและเล็กว่าได้รับผลกระทบจากนโยบายปรับเพิ่มเงินเดือน 15,000 บาทมาก เนื่องจากทำให้โรงเรียนเอกชนมีภาระจากค่าใช้จ่ายที่ต้องนำมาปรับเพิ่มเงินเดือน บางโรงเรียนต้องใช้วิธีกู้เงินเพื่อนำมาจ่ายเงินเดือนให้กับครู ในขณะที่เงินอุดหนุนรายหัวที่รัฐบาลจะจัดสรรมาให้โรงเรียนเอกชนจะได้รับประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ ทั้งนี้ โรงเรียนเอกชนมีต้นทุนจากเงินเดือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยหลักแสนบาทต่อโรงเรียนได้เพราะการปรับเงินเดือนไม่ได้ปรับให้เฉพาะครูที่เงินเดือนไม่ถึง 15,000 บาทเท่านั้น แต่ต้องปรับให้ครูที่อยู่มาก่อนหน้านี้ด้วย นายกสมาคมสภาการศึกษาฯ กล่าวต่อว่า ขณะนี้โรงเรียนเอกชนได้ทยอยปรับเพิ่มเงินเดือนแล้ว อย่างกรณีโรงเรียนของตนได้ปรับเพิ่มแล้วเช่นกัน ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 3 แสนบาทต่อเดือน และถึงแม้ว่าจะได้รับเงินอุดหนุนรายหัวต่อปีเพิ่มขึ้นในระดับอนุบาล-ประถมศึกษา ประมาณ 601 บาท และระดับมัธยมศึกษา 725 บาทก็ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากยังมีส่วนต่างที่โรงเรียนเอกชนต้องจ่ายเพิ่มให้กับครูเฉลี่ยคนละประมาณ 3,340 บาทต่อเดือน ดังนั้น หากเป็นไปได้อยากเสนอให้รัฐบาลปรับเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวเพื่อช่วยสนับสนุนเงินเดือนครูตามนโยบายของรัฐบาลด้วย ไม่เช่นนั้นเชื่อว่าในอนาคตจะต้องมีโรงเรียนเอกชนทยอยปิดเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งนี้ การที่รัฐบาลมีนโยบายเพิ่มเงินเดือนระดับปริญญาตรีนั้นถือเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์กับครู แต่ก็อยากให้เห็นใจโรงเรียนเอกชนด้วย เพราะโรงเรียนเอกชนไม่สามารถปรับเพิ่มเพดานค่าเล่าเรียนได้มากกว่าเพดานที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ในขณะที่บริษัทเอกชนทั่วไปถึงแม้จะได้ปรับเงินเดือน 15,000 บาทให้กับพนักงานสนองนโยบายรัฐบาล แต่ก็ยังสามารถมีรายได้มาทดแทนจากการปรับเพิ่มค่าบริการต่างๆ ได้ ตอนนี้มีโรงเรียนเอกชนในระบบที่เปิดสอนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วประเทศประมาณกว่า 2,000 แห่ง และมีครู 87,680 คนที่จะได้รับการปรับเงินเดือนแรกบรรจุและรับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว ซึ่งจำนวนดังกล่าวยังไม่รวมกับครูเอกชนที่มีอยู่มานานและทางโรงเรียนจะต้องปรับเงินเดือนให้ด้วยอีกจำนวนหนึ่ง นางจิระพันธุ์กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน |