มหาวิทยาลัยราชภัฏผนึกกำลัง ก้าวสู่ประชาคมอาเซียน
หลายท่านคงจะยังไม่ทราบว่าในปี 2558 ประเทศอาเซียนทั้ง 10 จะเข้าร่วมเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งจะต้องมีความร่วมมือในด้านต่างๆ แบบครบวงจร โดยในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฏต้องเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมประชาคมอาเซียนดังกล่าวอย่างเต็มรูปแบบ สำหรับการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าร่วมประชาคมอาเซียนมีความจำเป็นอย่างไรนั้น จากจุดเริ่มต้นซึ่งทำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้งหมดต้องเตรียมความพร้อมสืบเนื่องมาจาก สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations : ASEAN หรือ อาเซียน) เป็นองค์ทางการความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ก่อตั้งขึ้นโดยปฏิญญากรุงเทพ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 10 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย บรูไนดารุสซาลาม เวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา ผู้นำอาเซียนได้ลงนามปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือในอาเซียนฉบับที่ 2 เพื่อประกาศจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายใน พ.ศ.2563 (ค.ศ.2020) แต่ต่อมาผู้นำอาเซียนมีความเห็นพ้องกันว่าจะเร่งรัดการเป็นประชาคมอาเซียนให้เร็วขึ้นกว่าเดิมอีก 5 ปี เป็นประชาคมอาเซียนอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2558 โดยการรวมตัวและความร่วมมือใน 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่ 1.ด้านการเมือง จะมีการจัดตั้งประชาคมความมั่นคงอาเซียน 2.ด้านเศรษฐกิจ จะจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 3.ด้านวัฒนธรรมและสังคม จะจัดตั้งประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน ในส่วนของการขับเคลื่อนด้านการศึกษาในกรอบของอาเซียนนั้น ได้ระบุไว้ในแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน ประกอบด้วย การจัดการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ การส่งเสริมทุนอาเซียน และเครือข่ายการศึกษา การส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างกันและการพัฒนาเยาวชนอาเซียน การแลกเปลี่ยนการเรียนในสถาบันอุดมศึกษาของนักเรียนในกลุ่มอาเซียนเป็นเวลา 1 ภาคเรียน หรือ 1 ปี การส่งเสริมการวิจัยระหว่างสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การจัดทำหลักสูตรอาเซียนศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา การพัฒนาผู้นำเยาวชนอาเซียนอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น นอกจากนี้ผลการประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียนครั้งที่ 6 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศบรูไน ได้มีการประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งที่ 46 ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ 9 ประการ ประกอบด้วย 1.การสร้างความตระหนักรู้ของประชากรในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน 2.ความร่วมมือในการพัฒนาการใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง 3.การแลกเปลี่ยนครูและนักเรียน 4.การส่งเสริมเทคโนโลยีทางการศึกษาของกลุ่มประเทศอาเซียน 5.การส่งเสริมความเป็นเลิศของบุคลากรประเทศภาคีในกลุ่มอาเซียน เพื่อการแลกเปลี่ยนและช่วยเหลือกันในการพัฒนาศักยภาพของประชาคมอาเซียนให้สามารถแข่งกับประชาคมโลกได้ 6.การรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นของประชากรโดยเฉพาะการดูแลภาษาแม่ของแต่ละประเทศให้มีความเข้มแข็ง แม้ว่าจะใช้ภาษาอังกฤษก็ตาม 7.การเชื่อมโยงด้านวัฒนธรรมของแต่ละประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียน 8.การร่วมมือแลกเปลี่ยนนักศึกษาในแต่ละระดับ 9.การเชื่อมโยงการประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียนและรัฐมนตรีเอเชียศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุก 2 ปี ในด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษานั้น สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการศึกษาระดับนี้ โดย สกอ.กำหนดให้เปิดเสรีด้านอุดมศึกษาและการบูรณาการเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการจัดทำกรอบแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี ฉบับที่ 2 เพื่อให้ระบบอุดมศึกษาเตรียมพร้อมในการรองรับให้ประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้ โดยสถาบันอุดมศึกษาต้องเสริมหลักสูตรเรื่องของอาเซียนมากขึ้นในทุกคณะและภาควิชา อีกทั้ง สกอ.ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์อุดมศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 เพื่อเป็นแนวทางให้สถาบันอุดมศึกษาใช้วางแผนยุทธศาสตร์และนโยบายต่อไป ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาต้องมีการวางแผนทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเพื่อรองรับการเปิดเสรีด้านการศึกษา ในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 40 แห่ง ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดของ สกอ.ก็ได้เตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเช่นเดียวกับสถาบันการศึกษาอื่นๆ และเพื่อให้การเตรียมตัวเป็นไปอย่างมีระบบเครือข่าย มีความพร้อมมากที่สุดในปี 2558 ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏจึงมีมติให้มหาวิทยาลัยราชภัฏได้เดินทางไปศึกษาดูงานและประสานความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาในประเทศสมาชิกอาเซียน โดยกำหนดการแรกได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศฟิลิปปินส์และประเทศอินโดนีเซียตามลำดับ รศ.ดร.เปรื่อง กิจรัตน์ภร อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) พระนคร ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) กล่าวว่า เมื่อที่ประชุม ทปอ.มรภ.มีมติให้มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 40 แห่ง เดินทางไปศึกษาดูงานโครงการความร่วมมือระหว่างกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏและองค์กรรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งเจรจาความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเริ่มจากประเทศฟิลิปปินส์และสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ต่อจากนั้นได้เยือนประเทศเวียดนาม ลาว กัมพูชา ประเทศมาเลเซีย บรูไน พม่า เพื่อศึกษาทิศทางการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยในประเทศต่างๆ และร่วมลงนามความร่วมมือกับศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ : เรคแซม (SEAMEO Regional Centre for Education in Science and Mathematics : RECSAM) โดยการศึกษาดูงานครั้งนี้เพื่อให้มหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งได้รู้ข้อมูลการทำงานทิศทางในการพัฒนาของประเทศในอาเซียน เพราะการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้นอาจกล่าวได้ว่า จะรู้เราอย่างเดียวไม่ได้ ต้องรู้เขาด้วย ประธาน ทปอ.มรภ. กล่าวต่อว่า การศึกษาดูงานที่ประเทศฟิลิปปินส์นั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 40 แห่งได้ลงนามความร่วมมือกับศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษาของซีมีโอ (อินโนเทค) ซึ่งเกี่ยวกับสาขาครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ เพื่อเป็นการพัฒนาครู เทคโนโลยีการเรียนการสอนร่วมกันและให้เหมาะสมกับพื้นที่ของแต่ละมหาวิทยาลัย รวมถึงได้ลงนามความร่วมมือกับศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยการวิจัยและบัณฑิตศึกษาด้านการเกษตรของซีมีโอ (SEAMEO Regional Center for Graduate Study and Research in Agriculture : SEARCA หรือ ซิเอก้า) เพื่อให้มหาวิทยาลัยราชภัฏแต่ละแห่งได้ศึกษาวิจัยด้านการเกษตรมากขึ้น และเปิดโอกาสให้คณาจารย์ได้ศึกษาต่อระดับปริญญาเอกหรือหลังปริญญาเอก นอกจากนั้นได้ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีการเรียนการสอนด้านภาษาอีก ทั้งนี้การศึกษาดูงานประเทศอาเซียนนอกจากเป็นการเตรียมพร้อมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว ยังเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ยกระดับมหาวิทยาลัยราชภัฏของไทยสามารถแข่งขันในเวทีอาเซียนได้ รวมถึงยังสร้างความเข้มแข็งในกลุ่มของมหาวิทยาลัยราชภัฏได้อีกทางหนึ่ง สำหรับ ผศ.ดร.เรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ซึ่งเดินทางไปศึกษาดูงานโครงการความร่วมมือระหว่างกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏและองค์กรรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า จากการที่ได้ศึกษาดูงานในช่วงที่ผ่านมาทำให้มหาวิทยาลัยในท้องถิ่นต้องเตรียมความพร้อมมากที่สุด โดยในอันดับแรกจะเริ่มดำเนินการในเรื่องของภาษาที่ใช้ในการสื่อสารโดยจัดตั้งเป็นศูนย์ภาษาอาเซียน อย่างไรก็ตามในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่มีศูนย์ภาษาซึ่งสอนภาษาต่างๆ ในประเทศอาเซียนอยู่แล้ว โดยให้นักศึกษาสามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจ สำหรับศูนย์ภาษาอาเซียนนั้นต่อไปในอนาคตจะมีความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้งหมดเพื่อสร้างเครือข่ายดำเนินการ โดยในอันดับแรกจะเน้นในส่วนของสถาบันที่มีความพร้อม หลังจากที่ได้ศึกษาดูงานเพื่อนบ้านอาเซียนจนครบแล้วจากนั้นจะหาข้อสรุปร่วมกันว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ทั้งนี้ผลการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมของมหาวิทยาลัยราชภัฏในภาพรวมสะท้อนให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งต้องเตรียมความสำคัญและมีความพร้อมสำหรับเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในลักษณะของการผนึกกำลัง และการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยต้องประกอบไปด้วยการพัฒนาบุคลากรที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกภายในประเทศ การให้ผู้บริหารแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องของการศึกษาดูงาน และการศึกษาดูงานการทำวิจัยในประเทศสมาชิกอาเซียน สำหรับการเตรียมความพร้อมของแต่ละมหาวิทยาลัยนั้น จะต้องพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม อาคารสถานที่ การพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การพัฒนาบุคลากร (ผู้บริหาร อาจารย์ เจ้าหน้าที่) การพัฒนานักศึกษา และพัฒนาศูนย์ให้บริการด้านการศึกษา...แต่มหาวิทยาลัยราชภัฏก็ยังประสบปัญหาในเรื่องศักยภาพด้านภาษาของบุคลากร เนื่องจากมีโอกาสใช้ภาษาต่างประเทศในการสื่อสารน้อย แม้มีอาจารย์ที่สามารถสื่อสารภาษาต่างประเทศได้มากถึง 61.84 % และสิ่งที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือนักศึกษาของประเทศอาเซียนที่มาเรียนในมหาวิทยาลัยราชภัฏมีจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับนักศึกษาจากประเทศจีนที่เข้ามาศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยราชภัฏ โดยเฉพาะนักศึกษาจากประเทศมาเลเซีย บรูไน และอินโดนีเซียที่ไม่ได้เข้ามาศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ซึ่งอาจเป็นเพราะหลักสูตรที่เปิดสอนใช้ภาษาอังกฤษมีอยู่ไม่มากนัก แม้ว่าในปีนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏเพิ่งเริ่มเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แต่ก็ยังมีเวลาในการดำเนินการเรื่องนี้ต่อไปอย่างเป็นระบบ ซึ่งมีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจของประชาคมชาวมหาวิทยาลัยราชภัฏอีกเรื่องหนึ่งคือการร่วมวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยในประเทศอาเซียน ซึ่งมีวัฒนธรรมและหลายๆ องค์ประกอบที่ใกล้เคียงกัน จะเป็นการเสริมความเข้มแข็งทางวิชาการในภูมิภาคนี้ให้มากขึ้น ซึ่งคงต้องรอเวลาอีกสักพักเพื่อให้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏเห็นเป็นรูปเป็นร่างและขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กันทั้ง 40 สถาบัน
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง |